ภาคเอกชนพลิกโฉม "ตลาดเดลิเวอรี่" ลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

สิ่งแวดล้อม
28 พ.ย. 62
14:48
1,223
Logo Thai PBS
ภาคเอกชนพลิกโฉม "ตลาดเดลิเวอรี่" ลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ภาคเอกชนจับมือร่วมกันพลิกโฉมตลาดเดลิเวอรี่ทั้งระบบ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ผลิตถุงพลาสติก ภาชนะ และบริษัทเดลิเวอรี่ เริ่มปรับตัวเข้ากับเทรนด์รักษ์โลก หวังลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจากอาหารเดลิเวอรี่ที่คาดการณ์ว่ามีมากถึง 560 ล้านชิ้นต่อปี

วันนี้ (28 พ.ย.2562) ตลาดเดลิเวอรี่กลายเป็นตลาดอาหารสำคัญที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์มูลค่าตลาดเดลิเวอรี่อยู่ที่ 33,000 - 35,000 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตของตลาดเดลิเวอรี่อย่างก้าวกระโดดนี้ กำลังจะสร้างปริมาณขยะเพิ่มขึ้นมหาศาล ส่งผลให้ร้านอาหารต่างๆ ที่แม้ว่าจะมีหน้าร้านอยู่แล้ว แต่ก็ก้าวเข้ามาสู่ตลาดเดลิเวอรี่เพิ่ม แม้จะเป็นร้านปิ้งย่าง ที่อาจไม่ใช่อาหารที่จะสามารถเดลิเวอรี่ได้ก็ตาม


ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทประกอบการร้านอาหาร ระบุว่า จากตัวเลขประเมินมูลค่าของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่นั้น มีการคาดการณ์จำนวนขยะที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 โดยคำนวณจากจำนวนเงินเฉลี่ยต่อการสั่ง 1 ครั้ง เท่ากับ 250 บาท จะทำให้มีการสั่งเดลิเวอรี่ประมาณ 140 ล้านออเดอร์ คิดตามมูลค่าตลาดเดลิเวอรี่จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยการสั่งอาหาร 1 ครั้ง สร้างขยะได้อย่างน้อย 4 ชิ้น คือ ขยะภาชนะบรรจุภัณฑ์ 1 ชิ้น ถุงน้ำจิ้ม 1 ชิ้น ถุงพลาสติก 1 ชิ้น และช้อนส้อมอีก 1 ชิ้น ซึ่งประเมินตัวเลขได้ว่าธุรกิจเดลิเวอรี่สามารถสร้างขยะได้อย่างน้อยปีละ 560 ล้านชิ้น

เนื่องจากตลอดมาได้มีการขายอาหารเฉพาะหน้าร้าน แต่เมื่อขยับมาสู่ธุรกิจเดลิเวอรี่ กลับพบว่า ผู้บริโภคให้ความสนใจ โดยเพียง 2 เดือน การขายอาหารผ่านการเดลิเวอรี่สามารถสร้างได้รายเป็นร้อยละ 35 ของรายได้ร้านทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือขยะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารมองว่า หากสามารถลดปริมาณขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ ในขณะที่ตลาดเดลิเวอรี่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดจะเป็นโมเดลของประเทศไทยในการจัดการขยะรูปแบบใหม่ จึงได้เริ่มโครงการ "Wasteless Delivery" ลดขยะ Single-use plastics โดยนำบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อยมาใช้ ซึ่งบรรจุภัณฑ์เหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ในเวลา 45 วัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผ่านมาตรฐานยุโรป "BRC Cerficate" ทำให้สามารถทนน้ำและน้ำมันได้ และมีเนื้อหนากว่าภาชนะจากชานอ้อยปกติ โดยตั้งเป้าลดขยะเดลิเวอรี่ให้ได้สูง 1.2 ล้านชิ้นภายในปี 2563

นอกจากนี้ ถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการบริการเดลิเวอรี่ จึงทำให้ต้องคิดค้นการนำถุงพลาสติกที่ไม่ใช่ถุงใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่เป็นถุงที่สามารถใช้ซ้ำได้จากการออกแบบพิเศษที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลมีความหนาถึง 5 เท่า เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำถุงพลาสติกไปใช้ซ้ำได้ไม่ก่อให้เกิดขยะ Single-use plastics โดยจะเริ่มให้บริการวันนี้เป็นวันแรก

ผู้ผลิตถุงพลาสติกปรับตัว ตลาดยุโรปเลือกถุงรีไซเคิล

กมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัทผลิตถุงพลาสติกรายใหญ่ ระบุว่า ในส่วนของตลาดถุงพลาสติกนั้น หลังจากติดตามเทรนด์มาตลอดและมีตลาดต่างประเทศมาก พบว่า ตลาดถุงพลาสติกในยุโรปเน้นการใช้ถุงพลาสติกรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะ หลังจากที่ไอซ์แลนด์ประกาศยกเลิกใช้ถุงพลาสติกเมื่อ 10 ปีก่อน 

ยอดขายถุงพลาสติกธรรมดาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อก่อนผลิตอยู่ที่ 5,000 ตัน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแค่ 1,000 ตันเท่านั้น ซึ่งมีผู้ประกอบการบางส่วนหันมาสั่งถุงพลาสติกรีไซเคิลซึ่งหนากว่าถุงพลาสติกปกติเพิ่มมากขึ้น อย่างในปีนี้มียอดขายอยู่ที่ร้อยละ 5 หรือประมาณ 7 ตัน ซึ่งคาดว่า ในปีหน้าหลังจากมีการประกาศงดแจกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้ว ออเดอร์ถุงพลาสติกรีไซเคิลจะเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 10-15 ของถุงพลาสติกทั้งหมด


สำหรับการใช้ถุงพลาสติกรีไซเคิลนั้น เป็นแนวคิดที่จะช่วยให้คนลดการใช้ถุงพลาสติกแบบ Single-use plastics ลง และใช้ถุงพลาสติกใบเดิมซ้ำๆ ได้ เมื่อใช้จนไม่สามารถใช้ได้แล้วก็สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกใบใหม่ เป็นการวน และไม่ต้องนำทรัพยากรใหม่ มาใช้ในการผลิตอีก โดยถุงพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ต้องลองใช้นิ้วโป้งกดลงไปที่เนื้อถุง หากกดแล้วถุงสามารถยืดได้ก็แสดงว่ารีไซเคิลได้ แต่พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ถุงที่ทำจากพลาสติกมากว่า 1 ชิ้น เช่น ถุงขนม ที่มีพลาสติกฟอยด์อยู่ด้านใน โดยตลาดยุโรปกำลังผลักดันเรื่องการลดใช้ถุงขนมที่ผสมพลาสติกมากกว่า 1 ชนิด เพื่อให้สามารถนำมารีไซเคิลได้

ภาชนะชานอ้อย ราคาสูง ผู้ประกอบการรายย่อยยังเข้าไม่ถึง

ประวิทย์ เตชะวิจิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทผลิตภาชนะอาหาร ระบุว่า ยูโรปผลักดันการออกกฎหมายแบน Single-use plastics มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นตลาดโลกว่าปัจจุบันหลายพื้นที่ต้องการภาชนะที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลาดภาชนะของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ จึงทำให้บริษัทเดินหน้าผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติจากชานอ้อย แต่มีกรรมวิธีอื่นๆ ที่พัฒนาให้เนื้อของภาชนะมีความหนากว่าปกติเพื่อไม่ให้น้ำหรือน้ำมันซึมไหลออกมาได้ ซึ่งเป็นการผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานยุโรป


ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ภาชนะที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติและรักษ์โลกนั้น มีราคาที่แพง เนื่องจากต้นทุนต่างๆ มีมากกว่าการทำภาชนะปกติ อีกทั้งผู้ประกอบการยังเลือกใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติอยู่น้อย ดังนั้น หากผู้ประกอบการหลายเล็กๆ ต้องการใช้ก็อาจจะต้องจ่ายสูง แต่ในขณะเดียวกันหากในอนาคตมีการใช้ภาชนะที่ทำจากชานอ้อยเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตภาชนะขายดี ตลาดต้องการ ราคาก็จะลดลงไปตามกลไกตลาด 

แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ให้ผู้บริโภคเลือกลดขยะด้วยตัวเอง

จันต์สุดา  ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทเดลิเวอรี่แห่งหนึ่ง ระบุว่า ตลาดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ขยะก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มซึ่งเป็นตัวกลางสำหรับร้านอาหารและผู้บริโภคต้องหันมาหาวิธีในการลดขยะด้วย โดยเริ่มจากการเพิ่มชั่นชัน ไม่รับช้อนและส้อม เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจลดขยะ Single-use plastics ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งผลที่ได้ หลังจากแกร็บเริ่มใช้ฟังก์ชันนี้ พบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 80 ไม่รับช้อนและส้อมพลาสติกจากการบริการอาหารเดลิเวอรี่ 


ทั้งนี้ ในอนาคตอาจมีการพัฒนาระบบการสั่งซื้อในแอปพลิเคชัน โดยตั้งเป็นอีกเซคชั่นสำหรับร้านอาหาร Go green ที่ใช้ภาชนะจากสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกร้านอาหารจากพื้นฐานการช่วยลดขยะพลาสติก และเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สั่งอาหารถึงบ้าน แถมขยะเดลิเวอรี่

ตลาดอาหาร Delivery โตถึง 3.5 หมื่นล้าน กังวลเพิ่มขยะจากบรรจุภัณฑ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง