ถอดความหมาย “ของขวัญ” เกาหลีเหนือถึงสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
6 ธ.ค. 62
00:12
908
Logo Thai PBS
ถอดความหมาย “ของขวัญ” เกาหลีเหนือถึงสหรัฐฯ
คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ พร้อมภริยา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทหาร ขี่ม้าขาวขึ้นภูเขาเพ็กตู หรือ “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งการปฏิวัติ” แนวโน้มส่งสัญญาณประกาศข่าวสำคัญ หลังทดลองระบบแท่นยิงขีปนาวุธ

สำนักข่าวกลางของเกาหลีเหนือ (เคซีเอ็นเอ) เผยภาพ คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ บนหลังม้าสีขาว พร้อมภริยา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทหาร ขี่ม้าขึ้นภูเขาเพ็กตู หรือ “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งการปฏิวัติ” เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังจะมีการประกาศเรื่องสำคัญอีกครั้งของเกาหลีเหนือ

 

ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน คิม จอง-อึน เปิดตัวเมืองใหม่ “ซัมจียอน” ใกล้กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์เพ็กตู พร้อมประกาศให้เป็นเมืองในอุดมคติของโลกสังคมนิยม ภาพกิจกรรมของผู้นำเกาหลีเหนือถูกมองว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ และต้องการสื่อความหมายไปยังประชาคมโลกให้เห็นถึงความเข้มแข็ง และการเดินหน้าภายใต้นโยบายพึ่งตนเองของเกาหลีเหนือ

 

ในวันเดียวกันกับพิธีเปิดตัวเมืองใหม่ “ซัมจียอน” รีแทซอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายนโยบายสหรัฐฯ ของเกาหลีเหนือ ออกแถลงการณ์ ระบุว่า กำหนดเวลาที่เกาหลีเหนือให้กับสหรัฐฯ ใกล้จะสิ้นสุดลง แต่ดูเหมือนว่าการเจรจาของสหรัฐฯ ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าหลอกล่อให้เกาหลีเหนือผูกมัดในข้อตกลงที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสหรัฐฯ

เกาหลีเหนือดำเนินการทุกอย่างอย่างโปร่งใส ตามข้อตกลง สิ่งที่เหลือตอนนี้ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ ว่าจะเลือกรับของขวัญคริสต์มาสชิ้นไหน

ก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือเคยใช้คำว่า “ของขวัญสำหรับสหรัฐฯ” เพื่อสื่อถึงการทดลองยิงขีปนาวุธข้ามทวีป หรือ ICBM ในวันชาติสหรัฐอเมริกา 4 ก.ค.2560 ที่จุดกระแสความตึงเครียดระหว่างสองชาติ

รศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถอดความการแสดงท่าทีแข็งกร้าวและการทดสอบระบบแท่นยิงขีปนาวุธขนาดใหญ่แบบพร้อมกันหลายลูก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าท่าทีดังกล่าวสะท้อนว่าการคว่ำบาตร ส่งผลกระทบและสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อเกาหลีเหนือ

“กรณีเกาหลีเหนือบอกจะให้ของขวัญปีใหม่ น่าจะเป็นการทดลองขีปนาวุธระยะไกล เพื่อคุกคามอเมริกา แต่อเมริกาเข้าใจเกมนี้ดี ทรัมป์ตอบโต้ว่าอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางทหาร พร้อมทำสงคราม แม้จะไม่อยากทำ แต่หากจำเป็นก็จะต้องทำ” รศ.ดร.นภดล กล่าวว่าเป็นท่าทีที่ต่างฝ่ายต่างแรง

 

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุมสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ต่อกรณีการทดสอบระบบแท่นยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ว่านี่เป็นเหตุผลที่เขาเรียกผู้นำเกาหลีเหนือว่า “rocket man” ย้ำว่าหากไม่ใช่เพราะเขา ภูมิภาคเอเชียเกิดสงครามไปแล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับคิม จอง-อึน ดีมาก แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเขาจะไม่ทำตามสัญญาที่เราเซ็นกัน ต้องเข้าใจและไปดูสัญญาฉบับแรกที่เราเซ็นกัน ระบุว่า เขาจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ ผมหวังว่าเขาจะทำตามสัญญา

เกาหลีเหนือขีดเส้นตาย อ้างถึงข้อกำหนดเวลาสิ้นปีนี้ ในการเจรจาโครงการปลดอาวุธนิวเคลียร์กับการยกเลิกการคว่ำบาตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ ระบุว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งที่เกาหลีเหนือกำหนดขึ้นเอง

ท่าทีแข็งกร้าวจากทั้งสองฝ่าย อาจจะทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการที่ผู้นำทั้งสองจะพบกันในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ เพื่อเจรจาการปลดอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ครั้งนี้แรงกดดันตกอยู่กับเกาหลีเหนือ

รศ.ดร.นภดล กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ เข้าใจเกมการเมืองเป็นอย่างดี และอาศัยจังหวะสร้างประโยชน์การเมืองได้ หากทรัมป์มองว่าการคุยครั้งนี้มีแนวโน้มคืบหน้าอาจจะทำ เพราะได้ประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและคะแนนการเลือกตั้ง แต่ถ้าคุยแล้วไม่คืบหน้า อเมริกาอาจจะยื้อไประยะหนึ่ง เพราะอเมริกาไม่มีแรงกดดันด้านเวลา แต่ความกดดันอยู่ที่เกาหลีเหนือ

รศ.ดร.นภดล ยังระบุอีกว่า นอกจากนี้ “จีน” มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้เจรจาประนีประนอม แต่ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นกับดักใหญ่ในการเจรจา เมื่อแต่ละฝ่ายตีความการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในมุมที่ต่างกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง