เปิดข้อกังวลผังเมือง EEC สยายปีกอุตสาหกรรม เต็ม 4.2 แสนไร่

สิ่งแวดล้อม
23 ธ.ค. 62
15:57
1,474
Logo Thai PBS
เปิดข้อกังวลผังเมือง EEC สยายปีกอุตสาหกรรม เต็ม 4.2 แสนไร่
เดินหน้าเต็มสูบกับ แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หลังผังเมือง EEC มีผลบังคับใช้ 3 จังหวัด เพิ่มพื้นที่สีม่วงรองรับอุตสาหกรรมเต็มที่ ขณะที่เครือข่ายเพื่อนตะวันออก ประกาศจับตาผลกระทบจากผังเมือง เชื่อซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อม และเสี่ยงขยายความขัดแย้ง

สำหรับรัฐบาล การบังคับใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 หรือ ผังเมือง EEC เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา น่าจะเป็นการส่งท้ายปี 2562 ที่ทำให้ แผนและโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา – ชลบุรี - ระยอง เดินหน้าได้อย่างเต็มที่

แต่กว่าจะคลอดออกมาได้ ผังเมืองฉบับนี้ก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ และฝ่ายการเมือง ที่ติดตามปัญหานี้

"กัญจน์ ทัตติยกุล" เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก เป็นหนึ่งในตัวแทนประชาชนในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาศึกษาและพยายามส่งเสียงให้รัฐบาลและสังคม เห็นว่า กระบวนการจัดทำผังเมืองฉบับนี้ขาดความชอบธรรม และขัดต่อหลักการที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.EEC ที่การวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดินต้องสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ (มาตรา 30) อีกทั้ง ยังไม่สามารถตอบคำถามกับสังคมถึง ความโปร่งใสในการจัดทำผังเมืองฉบับนี้

 

 

ลดพื้นที่เกษตรกรรม เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม


กัญจน์ บอกว่า หากพิจารณาในแง่ดี การจัดทำผังเมืองนี้ก็เห็นความพยายามมองภาพรวมโดยเชื่อมโยงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง แต่อีกด้านหนึ่ง การกำหนดเขตพื้นที่ผังเมืองที่กินอาณาบริเวณกว้างมาก ทำให้ผังเมืองฉบับนี้ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ และกลายเป็นข้ออ่อน เพราะเมื่อเทียบกับผังเมืองเดิม กลายเป็นว่า พื้นที่ที่ถูกเปลี่ยนแปลงลดลงมากที่สุด คือ ที่ดินประเภทชนบท เกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียว) ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง และอุตสาหกรรม (พื้นที่สีม่วง)

 

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบ บอกว่า 3 จังหวัด มีพื้นที่อยู่ 8.29 ล้านไร่ ผังเมืองฉบับนี้คงพื้นที่เดิมไว้กว่า ร้อยละ 91 ที่มีการปรับเปลี่ยนไม่ถึงร้อยละ 10 แค่ประมาณร้อยละ 8.29 เท่านั้น โดยแบ่งเป็นพื้นที่เมือง ร้อยละ 3.37 พื้นที่อุตสาหกรรมร้อยละ 1.99 แถมยังเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ อีกร้อยละ 2.93

แต่การใช้ตัวเลข ร้อยละ 1.99 มาสื่อสาร ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะถ้าเปรียบเทียบกับพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งหมด 8.29 ล้านไร่ แสดงว่า มีอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากถึง 1.6 แสนไร่ ถ้ารวมของเดิมประมาณ 2.6 แสนไร่ ก็เท่ากับว่า ในอนาคต 3 จังหวัดจะมีพื้นที่อุตสาหกรรม รวมกันกว่า 4.2 แสนไร่ หรือ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 64 จากผังเมืองเดิม

ที่ไม่ได้พูดถึง คือ ผังเมืองฉบับนี้ เปลี่ยนจากการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีกระจุกตัวเป็นการกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ ซึ่งในระยะยาวอาจจะสร้างผลกระทบได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

จับตา "อุตสาหกรรม" รุกคืบที่ดินชุมชม

ที่ดินอีกประเภทหนึ่งที่ นักสิ่งแวดล้อมจากภาคตะวันออก คนนี้ ยืนยันว่า ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ "ชุมชนชนบท" เพราะผังเมือง EEC ที่กำหนดให้เป็นสีเหลืองอ่อน มีพื้นที่ที่ขีดวงไว้มากถึง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด (2.07 ล้านไร่ จาก 8.29 ล้านไร่)

 

 

ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2562 ข้อ 14 วรรคแรก กำหนดให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทนี้เพื่อการอยู่อาศัย เกษตรกรรม สถาบันราชการ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และกิจการอื่นเท่านั้น

แต่เมื่อดูรายละเอียด จะพบว่า มีข้อห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดิน สำหรับ 7 ประเภทอุตสาหกรรมเท่านั้น ได้แก่ การทำเหมืองใต้ดิน เหมืองแร่ตะกั่วและสังกะสี การถลุงแร่ด้วยสารละลายเคมีในชั้นใต้ดิน อุตสาหกรรมผลิตเหล็กขั้นต้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานฝังกลบของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ก็อาจถูกตีความว่า ไม่เข้าข่ายห้ามดำเนินการ

เมื่อเทียบพื้นที่อุตสาหกรรม ที่ดินประเภทนี้มีราคาไม่สูงมากนัก อนาคต อาจถูกเปลี่ยนมือและถูกนำไปสร้างโรงงาน โดยที่ ชาวบ้าน ไม่รู้ว่า ผังเมืองฉบับนี้เปิดช่องให้สร้างได้

 

พื้นที่อนุรักษ์ เพิ่มจริงหรือ ?

ผังเมือง EEC บอกว่า มีการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์มากกว่าเดิม (1.67 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากผังเมืองเดิมร้อยละ 2.93) พื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นจริง แต่ที่ต่างจากเดิม คือ ผังเมือง EEC อนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานประชิดพื้นที่ริมน้ำ ที่มีความเปราะบางของระบบนิเวศ และเป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน

 

 

กัญจน์ ยกตัวอย่าง พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ผังเมืองฉบับนี้ มีข้อห้ามในการทำประโยชน์และห้ามก่อสร้างโรงงาน ระยะ 500 เมตร แต่ก็เปิดช่องให้สร้างโรงงานที่ไม่ใช่สายการผลิต ในระยะ ตั้งแต่ 201 - 500 เมตร ได้ ขณะที่ ผังเมืองเดิม มีข้อห้ามกำหนดก่อสร้างใด ๆ ระยะ 1,000 เมตรจาก แม่น้ำบางปะกง

 

ผังเมือง EEC ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

ความขัดแย้งและความรุนแรง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ กัญจน์ รู้สึกเป็นห่วง เพราะการเปิดช่องให้อุตสาหกรรมขยายตัวไปในหลายพื้นที่ จะทำให้ ผู้ประกอบการ มีความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับ การคัดค้านของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

แทนที่ รัฐบาล จะเร่งขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ กลายเป็นว่า ต้องมาแก้ปัญหาความขัดแย้งแต่ละพื้นที่

 

 


แม้จะมีหลายเรื่องที่ "กัญจน์" รู้สึกเป็นห่วง แต่ก็เชื่อว่า ยังไม่สายเกินไปหากรัฐบาลจะมีการทบทวนผังเมืองฉบับนี้อีกครั้ง หรือ ทำให้ ประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมืองย่อยๆ แต่ละผัง พร้อมไปกับ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไปจากการพัฒนาอุตสาหกรรม

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง