พบเด็กไทยมีภาวะพูดช้ามากขึ้นเพราะเล่นมือถือ

ภูมิภาค
27 ธ.ค. 62
09:22
4,059
Logo Thai PBS
พบเด็กไทยมีภาวะพูดช้ามากขึ้นเพราะเล่นมือถือ
ผู้เชี่ยวชาญแนะผู้ปกครองหยุดให้เด็กเล็กใช้ มือถือ หรือ แท็บเล็ต หลังพบเป็นหนึ่งในปัจจัยให้เด็กพูดได้ช้าลง ล่าสุดพบเด็กไทยมากร้อยละ 30-40 % มีภาวะการพูดล่าช้า

นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย หรือ นักแก้ไขการพูด ประจำคลินิกฝึกพูด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้ของเล่นเด็กที่มีสีสันสวยงาม เป็นอุปกรณ์ในการกระตุ้นการเรียนรู้แก่เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษา และการเรียนรู้ล่าช้า ขณะที่การนวดปากของเด็กด้วยมือ เป็นการกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงอวัยวะมากขึ้น ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกบริเวณรอบริมฝีปาก และ ส่งเสียงเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น

 

 

การพูดล่าช้า หมายถึง ภาวะที่เด็กใช้ภาษาพูดในการสื่อสารได้ไม่สมวัย เริ่มพูดคำพูดแรกที่มีความหมายได้ล่าช้ากว่าเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกัน รู้จักคำศัพท์อยู่ในวงจำกัด สื่อสารกับผู้อื่นด้วยคำพูดไม่ได้ เรียบเรียงถ้อยความได้ไม่ดี หรือ ไม่สามารถเล่าเรื่องต่อเนื่องกันได้ ยกตัวอย่างเช่น อายุ 18 เดือน ยังไม่เริ่มสื่อสารด้วยคำพูด ใช้ภาษาท่าทาง หรือ การร้องให้แทนการพูด ไม่สามารถทำตามคำสั่งเช่น ชี้อวัยวะ หรือ หยิบสิ่งของได้ หรือ ทำได้น้อย

 

 

การพูดล่าช้ามีหลายสาเหตุ อาทิ ความบกพร่องทางการได้ยิน ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กลุ่มอาการออทิสติก สมองพิการ แต่ปัจจัยจากการขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม ทั้งสิ่งแวดล้อม และ การเลี้ยงดู กำลังกลายเป็นสาเหตุหลักที่พบมากขึ้น ยิ่งผู้ปกครองให้เด็กเล็กใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ มือถือ และ แท็บเล็ต ก็ยิ่งทำให้เด็กพูดได้ช้าลง

พิมพกานต์ หาญป่า นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย ระบุว่า สาเหตุเด็กพูดช้าเนื่องจากขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม พ่อแม่ตอบสนองเร็วเกินไป ทำให้เด็กเห็นว่าแค่ใช้ภาษากายก็ได้สิ่งที่ต้องการ เด็กจึงไม่ใช้การพูด

หลักสำคัญผู้ปกครองจึงต้องปรับการสื่อสาร ใช้ภาษากายที่ซับซ้อนขึ้น หรือ ต้องให้เด็กทำรูปปากตามก่อน จึงจะได้สิ่งที่ต้องการ รวมไปถึงการเติมคลังคำศัพท์พื้นฐานแก่เด็กให้เพียงพอ หรือ การทำตามคำสั่งง่ายๆ และ สร้างการบวนการใน
การออกเสียง พูด เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

 

 

นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย ยังขอให้ผู้ปกครอง หยุดให้เด็กเล็กใช้ มือถือ หรือ แท็บเล็ต และ หากิจกรรมอื่นๆ มาทดแทน เช่น การเล่นร่วมกัน ให้เด็กพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือ ให้เด็กช่วยงานบ้าน เพราะการใช้มือถือ หรือ แท็บเล็ต เป็นการสื่อสารทางเดียว เป็นพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับการกระตุ้นภาษา และ การพูด ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง

ผศ.สุภาพร ชินชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าปัญหาเด็กพูดช้าในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เด็กมากถึงร้อยละ 30-40 มีภาวะการพูดล่าช้า และ ยังมีภาวะคล้ายสมาธิสั้น ทั้งที่สภาพร่างกายปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูแบบรู้ใจ ให้ทุกอย่างแก่เด็กโดยต้องร้องขอ และ การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า ผู้ปกครองบางส่วน ยังไม่ให้ความสำคัญ เห็นว่าเด็กยังเล็กอยู่ และ เชื่อว่าไม่นานเด็กจะพูดได้เอง

 

 

ทั้งนี้ ภาครัฐ ควรให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และ เร่งให้ความรู้แก่ประชาชนว่า เด็กในช่วงวัยต่างๆ ควรใช้ มือถือ หรือ แท็บเล็ต ไม่เกินกี่นาทีจึงจะเหมาะสม

นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย เป็นวิชาชีพ ที่มีบทบาทในการแก้ไขการพูด และ การได้ยิน ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ แต่เพราะการเรียนการสอบในระดับปริญญาตรี ที่มีเพียงแห่งเดียว ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ปัจจุบันประเทศไทย นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย เพียง 300 คน ขณะที่จำนวนนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายที่เหมาะสมกับสัดส่วนจำนวนประชากรไทย อยู่ที่จำนวนหลักพันคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง