แม่เธอต้องได้กินกุ้ง เพราะพ่อฉันเป็นประมงพื้นบ้าน!

ไลฟ์สไตล์
7 ก.พ. 63
09:17
659
Logo Thai PBS
แม่เธอต้องได้กินกุ้ง เพราะพ่อฉันเป็นประมงพื้นบ้าน!
คนกินอาจมองว่าอาหารทะเลมีราคาแพง แต่มุมมองที่มีต่อชาวประมงกลับเป็นอาชีพที่น่าสงสาร "Smart Fisher Folk" คือสิ่งที่ชาวประมงพื้นบ้านนิยามตัวเอง คุยกับ "วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี" นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กับความพยายามของขบวนประมงพื้นบ้านให้ไปสู่จุดนั้น


ในยุคที่ทรัพยากรทางทะเลถูกใช้อย่างหนักจนเกิดวิกฤต ทำให้เริ่มเกิดความกังวลต่อความอยู่รอดของลูกหลานในอนาคต “การจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน” จึงเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องและกำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันในปัจจุบัน

แต่หากมองย้อนกลับไป กระแสการทำประมงอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหลังทะเลวิกฤต แต่เป็นสิ่งที่ “ชาวประมงพื้นบ้าน” ทำมานานแล้ว แต่เพราะการไม่เข้าใจและไม่ยอมรับใน “วิถีประมงพื้นบ้าน” ทำให้ไม่เพียงแค่ทรัพยากรประมงไม่ถูกจัดการอย่างยั่งยืน และเริ่มส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน แต่ชาวประมงพื้นบ้านก็ถูกมองข้ามจนเกือบสูญเสียตัวตน และไร้ความหวังต่อการดำรงวิถีนี้ต่อไป ทั้งที่มีส่วนสำคัญต่อการรักษาทรัพยากรทางทะเล

เมื่อ "การล่มสลายของประมงพื้นบ้าน" เป็นเรื่องเดียวกับ "วิกฤตทรัพยากรทางทะเล" การรักษาประมงพื้นบ้านเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน จึงเป็นภารกิจสำคัญของขบวนประมงพื้นบ้านในยุคปัจจุบัน ที่ต้องหาทางออกภายใต้หลายโจทย์ใหญ่ ทั้งที่เป็นโจทย์เดิม อย่างนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวประมงพื้นบ้าน ที่ยังแก้ไม่ตก และโจทย์ใหม่ คือ การยกระดับชาวประมงพื้นบ้านไปสู่การเป็น Smart Fisher Folk


"ไทยพีบีเอส"
ชวน วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย พูดคุย ย้อนอดีตกว่า 27 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งขบวนชาวประมงพื้นบ้าน ปัญหา และอุปสรรคตลอดเส้นทางของความพยายามรักษาวิถีประมงยั่งยืน และโจทย์ท้าทายในปัจจุบัน

ชาวประมงพื้นบ้าน กับอดีตที่ไร้ตัวตน

วิโชคศักดิ์ ย้อนอดีตว่า แต่ก่อน ชาวประมงพื้นบ้านถูกมองว่าเป็นอาชีพที่น่าสงสาร เพราะต้องเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย ทรัพยากรทางทะเลที่เสื่อมโทรมลง จากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เมื่อมีปัญหา ก็ไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ จนถึงขนาดมีข้อเสนอว่า ให้เลิกอาชีพประมงพื้นบ้าน ไปทำอย่างอื่นแทน

สังคมตอนนั้นมองว่า ประมงพื้นบ้านน่าสงสาร อวนลากทำร้ายเขา ทรัพยากรเสื่อมโทรม ทำให้เขายากจน คนในสังคมสงสาร แต่ไม่คิดที่จะแก้ปัญหาให้ ไม่คิดเรื่องประมงยั่งยืน แต่คิดว่าประมงพื้นบ้านควรเปลี่ยนอาชีพ ไปทำอย่างอื่น


ไม่ใช่คนภายนอกเท่านั้นที่มองว่า อาชีพประมงพื้นบ้านมีแต่ปัญหา ภายในขบวนของเครือข่ายประมงพื้นบ้านเอง ก็ไม่ได้พยายามยกระดับเพื่อก้าวข้ามปัญหาด้วยตัวเอง

ตอนนั้นสมาพันธ์ฯ ยังรวมตัวกันหลวม ๆ ภารกิจประจำ คือ 3 เดือนมาประชุมครั้งหนึ่ง เนื้อหาสาระก็เหมือนเดิม ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่ออกไปทำร่วมกัน มีแต่ข้อเสนอ แล้วก็ฝากไป

IUU จุดเปลี่ยนสำคัญ ประมงพื้นบ้าน

วิโชคศักดิ์บอกว่า ปัญหาชาวประมงพื้นบ้านคงจะวนอยู่ในอ่างอยู่อย่างนั้น หากไม่มีสถานการณ์เมื่อปี 2558 ที่สหภาพยุโรป (EU) ยื่นคำขาดให้ประเทศไทยปฏิรูปนโยบายเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีกฎข้อบังคับ (IUU : Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) และอาจจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยังสหภาพยุโรป หรือที่เรียกกันว่า ได้ใบเหลือง

การได้ใบเหลืองในครั้งนั้น ทำให้รัฐไทยภายใต้รัฐบาล คสช. เร่งปฏิรูปนโยบายประมงขนานใหญ่ ทั้งการออกกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกลุ่มประมงพื้นบ้านก็ยื่นข้อเสนอไปถึงกลไกของกรรมาธิการเพื่อผลักดันกฎหมายประมง

ตอนนั้น เราเสนอเรื่องการกระจายอำนาจ เปิดพื้นที่ให้ประมงพื้นบ้านมีสิทธิมีเสียง เข้าไปเป็นกรรมการจังหวัด 

นอกจากข้อเสนอเรื่องกระจายอำนาจ อีกจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การยอมรับการทำประมงอย่างยั่งยืน วิโชคศักดิ์เล่าว่า ที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นเพียงแค่กระแสรอง ขณะที่ฝั่งประมงพื้นบ้านที่เสนอเรื่องนี้ก็มักจะถูกมองว่าเป็นพวกโรแมนติกและเชย แต่หลังจากสถานการณ์ IUU ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นกระแสหลัก เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ไม่ว่าพรรคไหนหรือรัฐบาลไหนก็ต้องพูดถึง

 

 

พอ EU เคาะเรื่องใบเหลืองก็วงแตก เพราะประมงยั่งยืนเป็นสิ่งที่ชุมชนประมงพื้นบ้านทำอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นเบาะรองรับอย่างดี ว่าด้วยเรื่องการประมงยั่งยืน องค์ความรู้ออกมามากมาย เรื่องธนาคารปู ตอนนี้ ทุกจังหวัดต้องทำ รัฐก็ลงมาทำด้วย กลายเป็นกระแสจนถึงวันนี้

กระจายอำนาจจัดการทรัพยากรประมง

ถึงแม้กระแสประมงยั่งยืน จะช่วยเปิดพื้นที่ให้ประมงพื้นบ้านได้รับการยอมรับมากขึ้นในวันนี้ แต่วิโชคศักดิ์บอกว่า แค่นั้นยังไม่เพียงพอ ตราบใดที่ประมงพื้นบ้านยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดการจัดการทรัพยากรประมงอย่างแท้จริง ซึ่งการมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรประมง ให้แก่ประมงพื้นบ้านอย่างเท่าเทียมกัน

ในทะเลเดียว ไม่จำเป็นต้องให้รัฐมนตรีมาดูทุกเรื่อง แต่ละที่ไม่เหมือนกัน น้ำตื้นลึกไม่เหมือนกัน วิธีการทำประมงแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ก็ควรจะให้องคาพยพตรงนั้นบริหารจัดการเองได้ระดับหนึ่ง ใช้การจัดการบนพื้นที่หรือบนระบบนิเวศ

การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรประมง จึงยังเป็นเป้าหมายสำคัญขบวนประมงพื้นบ้านในขณะนี้ เพราะแม้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2560 ได้กำหนดกลไกคณะกรรมการประมงจังหวัดเอาไว้ แต่สัดส่วนของตัวแทนประมงพื้นบ้านในคณะกรรมการฯ ยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับสัดส่วนจากตัวแทนภาครัฐและประมงพาณิชย์ ทำให้แม้จะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้มาแล้ว 2 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประมงพื้นบ้านได้

 

 

วิโชคศักดิ์ ยกตัวอย่าง กรณีที่เห็นว่าสัดส่วนของตัวกรรมการยังไม่ชอบธรรม เช่น กรรมการประกอบด้วยนายอำเภอทุกอำเภอ หากมี 20 อำเภอ ก็มี 20 คน ก็จะกลายเป็นที่ประชุมของกระทรวงมหาดไทย

ชาวประมงพื้นบ้านก็นั่งตาดำ ๆ พูดไม่ออก เถียงนายอำเภอไม่ได้ ชาวบ้านมีความเกรงใจ เพราะเป็นฝ่ายปกครอง แต่ถ้าเถียง ก็กลายเป็นทะเลาะกัน กลายเป็นความขัดแย้ง ถ้าตัดสินด้วยการยกมือก็แพ้อยู่ดี เพราะข้าราชการมากกว่า

เขาย้ำด้วยว่า ถ้ากระจายอำนาจได้จริง การจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนก็เกิดขึ้นได้จริงเช่นกัน แต่ก็เข้าใจว่ากว่าจะทำเรื่องนี้ได้สำเร็จคงต้องใช้เวลา เพราะสังคมไทยยังต้องผ่านบทเรียนอีกมาก และที่สำคัญ คือ ประมงพื้นบ้านเองก็ต้องปรับตัว เพื่อจะให้เกิดความยั่งยืนได้ทั้งระบบ

Smart Fisher Folk: ก้าวสำคัญสู่การทำประมงยั่งยืน

การเปลี่ยนทัศนคติต่ออาชีพประมงพื้นบ้าน ไม่มองว่าชาวประมงพื้นบ้านคือคนยากจนที่มีแต่ปัญหา และไร้ความหวังต่ออาชีพนี้ ตามที่เคยถูกให้นิยามมาตั้งแต่อดีต แต่มองว่า ชาวประมงพื้นบ้าน คือ “Smart Fisher Folk” เป็นสิ่งที่วิโชคศักดิ์บอกว่า ถือเป็นเรื่องแรกที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องปรับตัว ซึ่งขบวนประมงพื้นบ้าน ก็พยายามพูดคุยให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้าใจและมองตัวเองด้วยทัศนคติแบบนี้

Smart Fisher Folk คือ การรู้สึกว่า เรามีศักดิ์ศรี มีเกียรติ มีรายได้พอกินเลี้ยงชีพ ไม่ใช่คนยากจน เป็นอาชีพที่ใครได้ยินก็ภูมิใจ อิจฉา กล้าบอกว่า พ่อฉันเป็นประมงพื้นบ้าน ไม่ใช่ไปโรงเรียนแล้วไม่กล้าบอก มันก็ไม่เกิดการยอมรับในสังคม

สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปกับการเปลี่ยนทัศนคติ คือ การสร้างระบบให้เป็นไปตามหลักของ Smart Fisher FolK ที่ต้องมองใน 3 มิติ คือ 1) ก่อนการผลิต คือ พื้นที่รองรับการทำประมงของตัวเอง 2) ช่วงการผลิต คือ ไม่ใช่เครื่องมือทำลายล้าง ไม่ใช้แรงงานทาส และ 3) หลังการผลิต คือ จัดการสัตว์น้ำให้คนกินปลอดภัย

ทุกวันนี้เป็นอย่างนั้น คนกินนึกว่าแพ้อาหารทะเล แต่จริง ๆ คือ แพ้ฟอร์มาลีน คือ เราไม่ควรมีสิทธิที่จะแช่ฟอร์มาลีนให้คนอื่น


แม้การเปลี่ยนทัศนคติจะเป็นเรื่องยาก แต่วิโชคศักดิ์บอกว่า ตอนนี้ก็เห็นแนวโน้มที่ดี เห็นได้จากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจำนวนมากก็เริ่มปรับตัว จัดการผลผลิตตามหลักการ Smart Fisher Folk ขณะที่ภาครัฐก็สร้าง “มาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชาวประมงพื้นบ้าน” หรือ Blue Brand Standard เพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวประมงพื้นบ้านสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคว่า จะสามารถเลือกซื้อสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงแบบยั่งยืน ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กรมประมงรับที่จะประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป คือ Blue Brand Standard แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างเดียว อาจจะเป็นมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำชื่ออื่น แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องให้ชาวประมงทุกคนเข้าถึงได้ ทุกคนสามารถไปขอการรับรองจากรัฐของตัวเองได้

ท้ายที่สุด วิโชคศักดิ์ยืนยันว่า หาก “ประมงยั่งยืน” ยังเป็นมาตรฐานของแนวทางในการจัดการทรัพยากรประมง ประมงพื้นบ้านก็จะยังเป็นอาชีพที่ต้องดำรงอยู่ เพราะไม่ใช่แค่เพื่อความอยู่รอดของชาวประมงพื้นบ้านเอง แต่จะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนของมนุษย์ด้วย

ตราบใดที่คนยังกินปลาที่ปลอดภัย ประมงพื้นบ้านก็ตอบโจทย์นี้ การประมงทะเลคือการจับปลามาให้คนกิน ไม่ใช่การจับปลาให้หมูกิน แล้วเราก็ไปฆ่าหมูเอามากิน มันไม่ใช่ การประมงทะเลที่ดีที่สุด คือการจับปลาไปให้มนุษย์กิน และการผลิตอาหารที่ยั่งยืนได้ ก็ต้องเป็นการประมงขนาดเล็ก

 

เพ็ญพรรณ อินทปันตี : ข่าววาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"กลุ่มประมงพื้นบ้าน" ระดมอาหารทะเลช่วยน้ำท่วมอุบลฯ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง