อภิปรายฝ่าดงฝุ่น

Logo Thai PBS
อภิปรายฝ่าดงฝุ่น
จับตาฝ่ายค้านเตรียมยกปัญหาฝุ่น PM 2.5 อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ขณะที่เริ่มมีคำถามต่อประสิทธิภาพการรับมือในสถานการณ์ฝุ่นที่ยังรุนแรงในหลายพื้นที่

หากเป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงปลายสัปดาห์หน้า หรือวันที่ 24–27 ก.พ.นี้ หลายพื้นที่ของประเทศไทยอาจจะจมอยู่ในดงฝุ่น PM 2.5 อีกครั้ง เนื่องจากสภาวะลมอ่อนและความกดอากาศสูง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่มีปัจจัยไฟป่าทั้งในประเทศ และข้ามแดนเป็นตัวเร่งสถานการณ์ให้วิกฤตขึ้น

แต่หากดูสถานการณ์การเมืองควบคู่ไปด้วย ก็ดูเหมือนอาจจะมีบางพื้นที่ที่ต้องเจอกับวิกฤตฝุ่นตั้งแต่ต้นสัปดาห์ โดยเฉพาะที่อาคารรัฐสภาที่กำลังจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่วันที่ 24–28 ก.พ.นี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาอภิปรายความไร้ประสิทธิภาพในการรับมือของรัฐบาล

ย้อนลำดับมาตรการแก้ฝุ่นของรัฐ

หลังคนกรุงเทพมหานคร จมอยู่ในดงฝุ่นนานนับเดือน จนถึงขั้น กทม.ต้องสั่งปิดโรงเรียนพาเด็กหนีฝุ่นนานถึง 3 วัน สถานการณ์ที่วิกฤตต่อเนื่อง และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)ตัดสินใจยกระดับให้ปัญหาฝุ่นเป็น “วาระแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 โดยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ และขยายครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 

แต่กว่าที่รัฐบาลจะคลอดแผนปฏิบัติการที่จะขับเคลื่อนวาระแห่งชาติให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ ก็ต้องใช้เวลานานถึง 7 เดือน โดย ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบ “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562

ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาที่ภาคเหนือที่ถูกพายุฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมทั่วทั้งภาคตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 บางพื้นที่อย่าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ต้องจมอยู่ในดงฝุ่นในระดับสีแดงหรือระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพติดต่อกันนานถึง 38 วัน ก่อนที่จะขยับลงมาปกคลุมภาคใต้ในช่วงเดือนก.ย.2562 แทบจะไม่สามารถบรรเทาความรุนแรงของปัญหาลงได้เลย

ความหวังกับแผนปฏิบัติการแก้ฝุ่น

แม้จะใช้เวลานาน แต่การมีแผนปฏิบัติการก็ทำให้คนไทยมีความหวังว่า รัฐบาลจะสามารถพาคนไทยฝ่าดงฝุ่นออกไปได้ โดยเฉพาะเมื่อแผนระบุเป้าหมายว่า “สร้างอากาศดีเพื่อคนไทยและผู้มาเยือน” พร้อมกรอบคิดการปฏิบัติที่ยึดตามหลัก “การป้องกันไว้ก่อน” เน้นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้าโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง

ขณะที่มาตรการดำเนินการกำหนดไว้ 3 มาตรการ โดยมาตรการแรก เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เน้นการกำหนดแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤต, ช่วงระหว่างเกิดสถานการณ์วิกฤต โดยแผนปฏิบัติการฯ กำหนดให้เดือนธ.ค.–เม.ย. เป็นช่วงวิกฤตที่หน่วยงานต้องจัดให้มีกลไกบริหารจัดการและแผนเผชิญเหตุ ตามระดับความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5, และช่วงหลังวิกฤต

ส่วนมาตรการที่สองคือ การป้องกันมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด ทั้งที่เกิดจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่งหรือพื้นที่เกษตร การก่อสร้าง ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้พลังงานในภาคครัวเรือน และมาตรการที่สามคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยเน้นการสร้างเครือข่ายติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับค่ามาตรฐานฝุ่นให้เป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) และการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน

 

มีแผนปฏิบัติการแล้ว แต่ฝุ่นไม่ลด


หากยึดตามมติ ครม. เท่ากับว่า แผนปฏิบัติการฯ เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 แต่สถาน การณ์ฝุ่นที่เริ่มกลับมารุนแรงในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ตั้งแต่เดือนธ.ค.2562 เช่นเดียวกับภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ที่เริ่มจมฝุ่นเป็นระยะตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.2563 มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีคำถามดังๆ ว่า แผนปฏิบัติการฯ มีประสิทธิภาพแค่ไหนต่อการรับมือวิกฤตฝุ่นที่กำลังวนกลับมาอีกรอบ

เช่น จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.แพร่ และ จ.ลำปาง มีค่าฝุ่นในระดับสีแดงหรือระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ติดต่อกันนาน 4–5 วัน ในช่วงวันที่ 25–31 ม.ค.นี้ 

ซึ่งหากพิจารณาตามมาตรการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่กำหนดให้ยกระดับมาตรการรับมือ หากพื้นที่ใดมีค่าฝุ่นในระดับ 76–100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2550 เข้าควบคุมพื้นที่หรือแหล่งกำเนิดฝุ่น แต่กลับยังไม่เห็นการยกระดับมาตรการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

 

หรือเมื่อดูมาตรการลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด ก็ยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งมาตรการลดมลพิษจากยานพาหนะที่เห็นเพียงการตรวจจับควันดำที่เป็นเพียงปลายทาง หรือการลดการเผาไร่อ้อยที่พบว่า ขณะนี้ใกล้จะถึงช่วงเวลาที่โรงงานปิดรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรเข้าหีบ แต่พบว่าโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ยังคงรับซื้ออ้อยไฟไหม้จากเกษตรกร จนอาจจะไม่สามารถปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2562 ที่กำหนดให้โรงงานรับซื้ออ้อยสดต่ออ้อยไฟไหม้ 50 : 50 เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไร่อ้อย

และล่าสุดที่เจ้ากระทรวงคมนาคมเสนอให้ติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนรถเมล์ของ ขสมก. แต่ถูกคัดค้านจากนักวิชาการที่มองว่า ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และมีภาพการ์ตูนล้อเลียนเผยแพร่ในโซเชียลว่า ให้ ขสมก.ไปแก้ปัญหาควันดำที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของฝุ่นพิษในเมืองหลวงให้ได้ก่อน

สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้เริ่มมีคำถามต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติวาระแห่งชาติ ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในต้นสัปดาห์ได้ อาจจะยิ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลมากขึ้น

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง