ผังเมืองเปลี่ยนสี เมื่อทุน EEC จับมือกับการเมือง

สิ่งแวดล้อม
28 ก.พ. 63
12:32
4,303
Logo Thai PBS
ผังเมืองเปลี่ยนสี เมื่อทุน EEC จับมือกับการเมือง
การเป็นกล่องดวงใจใหญ่ของรัฐบาลตามคำกล่าวของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทำให้โครงการ EEC หรือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ถูกพูดถึงทุกครั้งที่มีการอภิปราย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมจนละเลยเสียงของประชาชนในพื้นที่ ละเลยกลไกกำกับติดตามมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี ไปจนถึงไม่สนใจกระบวนการทางกฎหมายปกติ แต่ใช้อำนาจพิเศษที่ขัดกับหลักนิติรัฐเร่งรัดเดินหน้าโครงการ ล้วนเป็นประเด็นที่ถูกพรรคฝ่ายค้านนำมาอภิปรายหลายครั้งที่ผ่านมา

แต่แทบทุกครั้งก็ยังไม่เห็นการชี้แจงจนสิ้นข้อสงสัยอย่างชัดเจนจากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับการลุกขึ้นมาชี้แจงของนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงค่ำวันที่ 25 ก.พ. หลังการอภิปรายของ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ ส.ส.ฉะเชิงเทรา อดีตพรรคอนาคตใหม่

ทุจริตเชิงอำนาจ ไม่ฟังเสียงประชาชน

นี่เป็นข้อมูลที่เตรียมมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมทุจริตเชิงอำนาจ ทำลายนิติรัฐ เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำ เอาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปเสี่ยง เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และไม่เห็นหัวประชาชน คือ 3 เหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป

นายจิรัฏฐ์ ระบุว่า เหตุผลแรกคือ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ข้ามขั้นตอนการใช้อำนาจตามกลไกกฎหมายปกติ ที่ควรจะถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้ตามหลักนิติรัฐ ด้วยไม่รอให้ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ขณะนั้นกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาบังคับใช้ก่อน แต่กลับใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 เร่งรัดเดินหน้าโครงการ

ไม่ทราบด้วยสาเหตุอะไร ทำไมถึงรอไม่ได้ ในเมื่อมันเข้ากระบวนการ สนช.แล้ว ท่านใช้คำสั่งมาตรา 44 ฉบับแรกคือ คำสั่งที่ 2/2560 จัดตั้งสำนักงาน EEC ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ตั้งเลขาธิการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ 2 ม.ค.2560 ร่างยังไม่ผ่านวาระแรก สนช.

เหตุผลที่สองคือ นายกรัฐมนตรีไม่สนใจประชาชน โดยยกตัวอย่างปัญหาการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่า จากการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 40 ครั้ง มี 19 ครั้ง ที่เป็นการรับฟังหน่วยงานราชการด้วยกันเอง ส่วนอีก 21 ครั้ง ก็ไปคุยนอกพื้นที่สีม่วง โดยมีเพียง 2 ครั้งที่รับฟังในจุดพื้นที่สีม่วง

 

กล่าวหาเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน-เปลี่ยนสีผังเมือง

นายจิรัฏฐ์กล่าวว่า เหตุผลที่สามคือ การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยยกข้อมูลการเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวหรือพื้นที่เกษตรกรรม เป็นสีม่วงหรือพื้นที่อุตสาหกรรม บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ โดยบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (Energy Absolute – EA)

พื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง ตอนแรกก็เขียวอยู่ดีๆ แล้วก็ม่วงขึ้นมา พื้นที่นี้บริษัท EA ที่กำลังทำนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ เขาขอกับโยธาธิการและผังเมืองว่า ต้องการเปลี่ยนตรงนี้เป็นสีม่วง

นายจิรัฏฐ์ ระบุว่า แม้รายงานการศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะพบว่า มีหลายเหตุผลที่ไม่ควรเปลี่ยนสีผังเมืองพื้นที่นี้ จากสีเขียวเป็นสีม่วง แต่ในที่สุด เมื่อมีการประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC พื้นที่นี้ก็กลายเป็นสีม่วงไปแล้ว และยังเปิดเผยว่าบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นกรรมการอิสระ อยู่ด้วย

เป็นความจริงที่ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ เป็นกรรมการบริษัทนี้ ตั้งแต่ก่อนที่พื้นที่นี้จะเป็นสีม่วงจนถึงปัจจุบัน ก็ยังคงตำแหน่งนั้นอยู่

นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีการขออนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ โดยเพิ่ง จัดทำกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อขอจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่กลับมีการเปลี่ยนสีผังเมืองไปรอก่อนแล้ว

นายจิรัฏฐ์กล่าวยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาอภิปราย มาจากเอกสารราชการและเอกสารของเอกชนที่เปิดเผย อย่างเป็นทางการ ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดสรุปให้เห็นพฤติกรรมทุจริตเชิงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงไม่สามารถไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งอีกต่อไป

ขณะที่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงว่า โครงการ EEC ดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และมีการแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ได้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมด

พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชนรวม 1 ล้านไร่ เพิ่มจากเดิม 13 % ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐาน รองรับการพัฒนาพื้นที่เมืองเดิมและเมืองใหม่ได้ พื้นที่อุตสาหกรรมรวม 42,854 ไร่ คิดเป็น 5.12 % ของพื้นที่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทั้งจังหวัด

และชี้แจงประเด็นอำนาจเลขาธิการ EEC ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะยังต้องดำเนินการภายใต้คณะกรรมการชุดใหญ่และคณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีการชี้แจงในประเด็นการเปลี่ยนสีผังเมืองเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนแต่อย่างใด

 

“พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” กรรมการบริษัทใน EEC

โครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ มีแผนจะก่อสร้างริมแม่น้ำบางปะกงในพื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยโครงการนี้ถูกคาดหมายให้ต่อยอดธุรกิจ News S Curve ในพื้นที่ EEC

ตามที่สังคมรับรู้และปรากฎข้อมูลผ่านสื่อมาตลอดคือ โครงการนี้เป็นการลงทุนของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในอุตสาหกรรมแบตเตอรีไฮเทค รองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสอดรับกับข้อมูลในรายงานของบริษัทที่ปรึกษาโครงการจัดทำผังเมืองรวมชุมชนบางปะกง ในปี 2561 ระบุว่า บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ต.เขาดิน กว่า 3,500 ไร่ จากสีเขียวเป็นสีม่วง

เมื่อตรวจสอบรายชื่อกรรมการบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) พบว่า มีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2557 ถึงปัจจุบัน มีหุ้นในบริษัทฯ 1,140,000 หุ้น คิดเป็น 0.03 %

แม้จะไม่มีข้อมูลว่า การเปลี่ยนสีผังเมืองที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับสถานะของกรรมการบริษัทหรือไม่ แต่การไม่มีคำชี้แจงใดๆ ว่าเหตุใดถึงมีการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง เพื่อดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม ย่อมทำให้ข้อกล่าวหาเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนยังไม่ได้รับการคลี่คลาย

สร้างนิคมฯ ก่อนรายงาน EIA ผ่านการพิจารณา

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบลำดับเรื่องราวการดำเนินโครงการ พบว่าเมื่อแรกเริ่มที่มีการปรับพื้นที่ 500 ริมแม่น้ำบางปะกง ใน ต.เขาดิน อ.บางปะกง ผู้ดำเนินการกลับเป็น บริษัท ดับเบิ้ลพีแลนด์ จำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตการขุดดินถมดินจากองค์การบริหารส่วนตำบลเขาดิน เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 โดยบริษัท ดับเบิ้ลพีแลนด์ จำกัด ก็เริ่มดำเนินการทันทีที่ได้รับอนุญาต

แต่หลังจากบริษัท ดับเบิ้ลพีแลนด์ จำกัด ดำเนินการได้เพียง 3 เดือน ชาวบ้านในพื้นที่ก็ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ระงับการดำเนินการของบริษัทฯ โดยอ้างว่า ดำเนินการโดยผิดกฎหมายผังเมือง เพราะเป็นพื้นที่สีเขียว ที่มีข้อห้ามตั้งนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งยังไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และเริ่มมีการขับไล่ชาวบ้านให้ออกไปจากพื้นที่แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินกว่า 1 พันไร่เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม

ขณะที่บริษัท ดับเบิ้ลพีแลนด์ จำกัด แถลงตอบโต้ว่า ไม่เคยขับไล่ชาวบ้านหรือบีบบังคับให้ขายที่ดิน พร้อมทั้งระบุว่า การถมปรับที่ดินนั้น เพื่อก่อสร้างโกดังและลานจอดรถ ซึ่งสามารถดำเนินการได้แม้เป็นพื้นที่สีเขียวในผังเมือง ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และบริษัทได้ขออนุญาตขุดดินถมดิน และขออนุญาตก่อสร้างโกดัง ตามกฎหมายทุกประการแล้ว

อย่างไรก็ตาม วันที่ 24 ธ.ค.2561 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีหนังสือถึง อบต.เขาดิน ให้กำกับดูแล บริษัท ดับเบิ้ลพีแลนด์ จำกัด ให้ปฏิบัติตามมาตรา 50 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เนื่องจากโครงการฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้

หลังจาก สผ.แจ้งเตือนไม่ถึงเดือน วันที่ 10 ม.ค.2562 อบต.เขาดิน มีหนังสือแจ้งบริษัท ดับเบิ้ลพีแลนด์ จำกัด ระงับการขุดดิน ถมดิน และการก่อสร้างตามแผนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เอาไว้ก่อน จนกว่าการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ และบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามลำดับต่อไป

ทำให้บริษัทฯ ต้องยุติการก่อสร้างและไม่มีการดำเนินการใดๆ ในที่ดินดังกล่าว จนกระทั่งมีการประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562 และพื้นที่ตั้งโครงการก็ถูกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงในที่สุด

ก่อนหน้านี้ ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อเดือนก.ค.2562 ก็ได้มีการอภิปรายตั้งข้อสงสัยต่อการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่นี้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้รับปากว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC แต่หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบไป

ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงวันก็จะยุติลง คงต้องจับตาว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า การดำเนินโครงการที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนในโครงการ EEC โดยเฉพาะในกรณีนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ จะมีคำชี้แจงจนสิ้นข้อสงสัยหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง