ภัยเงียบ! หน้าร้อน "ก๊าซโอโซน" ค่าพุ่ง-เลี่ยงออกกลางแจ้ง

สิ่งแวดล้อม
13 มี.ค. 63
18:44
67,628
Logo Thai PBS
ภัยเงียบ! หน้าร้อน "ก๊าซโอโซน" ค่าพุ่ง-เลี่ยงออกกลางแจ้ง
นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เตือนระวัง “ก๊าซโอโซน” สูงเกินมาตรฐาน ช่วงอากาศร้อน กระทบระบบเดินหายใจป้องกันยากกว่าฝุ่น PM 2.5 เพราะเป็นก๊าซ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แนะนำเลี่ยงออกที่แจ้ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ หลังฝุ่นเพิ่มค่าโอโซนพุ่งสูง

วันนี้ (13 มี.ค.2563) ผศ. ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เผยผลการติดตามค่าก๊าซโอโซนในอากาศของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าหลายพื้นที่มีค่าโอโซนเกินมาตรฐาน ซึ่งกำหนดให้ความเข้มข้นที่ 8 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 พีพีบี (ส่วนในพันล้านส่วน)  เช่น ที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าค่าโอโซนที่วัดได้สูงถึง 117 พีพีบี

โดยภาคเหนือได้รับผลกระทบหนักกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานสูง ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรงเพิ่มเป็นเท่าตัว โดยโอโซนเป็นก๊าซพิษที่มีฤทธิ์กัดกร่อน หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจกัดกร่อนเนื้อเยื่อทางเดินหายใจ ทำให้ระคายเคือง

 

ขณะที่หน้ากากอนามัย PM 2.5 ไม่สามารถป้องกันก๊าซโอโซนได้ จึงแนะนำให้ประชาชนงดออกนอกอาคารช่วงแดดร้อนจัด เพราะอุณภูมิที่สูงขึ้นเร่งปฏิกิริยาทำให้ก๊าซโอโซนมีเพิ่มมากขึ้น และตรวจเช็คค่ามลพิษในอากาศทุกวันเพื่อวางแผนการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยทั้งฝุ่นและโอโซน

ก๊าซโอโซนในระดับพื้นดิน เป็นมลพิษทางอากาศที่ควบคุมยากกว่าฝุ่น PM 2.5 เพราะเกิดขึ้นจากสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์ในอากาศ เป็นการสร้างมลพิษในระดับทุติยภูมิ โดยมีความร้อนและแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ให้โอโซนสูงขึ้นกว่าปกติในช่วงฤดูร้อน 

แนะงดออกกลางแจ้ง 

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จับตาค่าโอโซนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเกินมาตรฐานมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ทั้งยังเปรียบเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากไม่มีสีและกลิ่น ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกตัวว่าสูดดมโอโซนเข้าสู่ร่างกาย จนกว่าจะแสดงอาการ เช่น หายใจขัด ระคายเคืองตา ผิวหนัง กระตุ้นอาการของผู้ป่วยโรคหอบหืด 

ทั้งนี้ ปัญหาก๊าซโอโซนสูง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นประเด็นด้านมลภาวะที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมแต่ละประเทศให้ความสำคัญ โดยวิธีการป้องกันตัวเองเบื้องต้นจากก๊าซโอโซน คือ ตรวจเช็กค่าสภาพอากาศทุกวันก่อนออกจากบ้านหรืออาคาร หากฝุ่น PM 2.5 สูง ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และหากพบว่าโอโซนสูงเกินมาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงออกกลางแจ้ง หรือ ทำกิจกรรมกลางแจ้งเฉพาะช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยง เพราะการใส่หน้ากากอนามัยที่ใช้ทั่วไปไม่สามารถป้องกันก๊าซพิษได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาเซียนยกระดับปัญหาหมอกควันข้ามแดนเข้าขั้นวิกฤต

ฝุ่นควัน "แม่สาย" ยังวิกฤตต่อเนื่องวันที่ 7

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง