น้ำตาหยดแรก...กับเงินในกระเป๋าแค่ 100 บาท

สังคม
19 เม.ย. 63
13:35
2,259
Logo Thai PBS
น้ำตาหยดแรก...กับเงินในกระเป๋าแค่ 100 บาท
ก้าวแรกเมื่อเหยียบบนผืนแผ่นดินไทย ทำให้นายมูฮัมหมัดฮัมรัน อาแว แรงงานหนุ่มไทยที่เดินทางไปทำงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ที่เมืองยะโฮร์บารู ประเทศมาเลเซีย ถึงกับกลั่นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่

ในช่วง 1 เดือน ที่ทางการมาเลเซีย ประกาศปิดประเทศ เพราะการระบาดอย่างหนักของไวรัส COVID-19

ทำให้ร้านอาหารที่เขาเป็นลูกจ้างต้องปิดตัวลง รายได้ที่เคยใช้เลี้ยงชีพ หรือส่งให้คนในครอบครัวที่เมืองไทย หมดลงทันที ซ้ำร้ายเงินเก็บที่ได้จากการทำงาน ก็ต้องนำมาใช้เพื่อซื้ออาหารประทังชีวิต

 

กระทั่งเมื่อทราบข่าวว่า ทางการไทยเปิดให้ลงทะเบียน เพื่อเดินทางกลับประเทศอีกครั้ง เขาก็รีบดำเนินการทันที

ผมอยากกลับประเทศมาก อยากกลับ จนร้องไห้เกือบทุกคืน จนรู้ว่าเขาจะเปิดด่านอีกครั้ง และผมก็รีบทำเอกสาร เมื่อคืนผมก็รีบมานอนรอใกล้ๆ ด่านฝั่งมาเลเซีย นอนไม่หลับเลย พอผมได้เป็นคนแรกๆ ที่ได้กลับบ้าน มันดีใจมากเลยครับ

นายมูฮัมหมัดฮัมรัน สะท้อนความรู้สึก เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดรับตัวเขาและเพื่อน เป็นกลุ่มแรกเข้าประเทศ ก่อนเวลาเปิดด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่กำหนดไว้ในเวลา 08.00น.

แต่นายมูฮัมหมัดฮัมรัน และเพื่อนที่มารอหน้าด่านตั้งแต่ก่อนถึงเวลาทำการ ทำให้เจ้าหน้าที่ด่านพรมแดนทั้งสองประเทศ ยอมเปิดประตูด่านก่อนเวลาที่กำหนด

 

ผมกับเพื่อนทำงานในร้านอาหารต้มยำกุ้งร้านเดียวกัน บางคนมีเงินติดตัวแค่ 100 บาท ส่วนบางคนไม่มีเงินเลย พวกเราก็ต้องช่วยกันลงขันรวมเงินให้เพื่อน ไปหาหมอ ขอใบรับรองแพทย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านพร้อมกัน เพราะอยู่มาเลเซียมันลำบาก เงินก็ไม่มี งานก็ไม่มี และกลัวไวรัสด้วย

นายมะนาแซ แวกะจิ เด็กหนุ่มชาว อ.ยะรัง จ.ปัตตานี กล่าว

 

หลังเดินทางพร้อมเพื่อนอีกเกือบ 10 คน กลับจากมาเลเซีย มาถึงด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก นายมะนาแซ บอกว่า แม้ตลอดการเดินทางมายังด่านพรม จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองโรค ตรวจสอบประวัติ และตรวจสอบเอกสารหลายครั้ง จนอาจทำให้ต้องเสียเวลานาน แต่ก็เข้าใจดีถึงขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อป้องกันไวรัสระบาด และป้องกันความวุ่นวาย เนื่องจากคนไทยอีกจำนวนมากที่ต้องการเดินทางกลับไทย

“มีอีกหลายคนที่อยากกลับ บางคนเอกสารไม่ครบ บางคนก็ไม่มีเงิน คนกลุ่มนี้ก็น่าสงสาร ยิ่งคนอยู่ไกลๆ เค้าก็ต้องการกลับบ้าน” นายมะนาแซ กล่าว

ผมไม่รู้จะบอกความดีใจยังไงดี ครั้งนี้มันดีใจกว่าครั้งไหนๆ ที่กลับไทย พอรู้ว่าได้กลับแน่แล้ว ผมดีใจ พ่อแม่ก็ดีใจมาก และพร้อมจะเข้าสู่การกักตัว 14 วัน

นายมะโยฮัน เจ๊ะโอ๊ะ แรงงานไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้ง กล่าว

แรงงานไทยในที่เดินทางกลับเข้าประเทศ ซึ่งได้ลงทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ผ่านสถานกงสุล และสถานทูตไทยในประเทศมาเลเซีย ครั้งนี้ มีประมาณ 3,800-4,000 คน

ส่วนใหญ่เป็นแรงงานใน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง กลุ่มแรงงานอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่นรับเหมาก่อสร้าง ทำงานในสถานประกอบการอื่นๆ หรือ อาชีพอิสระ และกลุ่มแรงงานในภาคการเกษตร เช่น สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือ ประมง

 

บ้านเรามีความสุขที่สุดแล้ว หนูเป็นคนอุดรธานี ไปทำงานที่มาเลเซียกับแม่และญาติ แต่วันนี้หนูได้กลับมาก่อนแค่คนเดียว ตอนแรกก็ขอเจ้าหน้าที่ให้กลับพร้อมกัน แต่อาจเพราะขั้นตอนการลงทะเบียนที่ไม่ได้ยื่นพร้อมกัน ทำให้แม่และคนอื่นๆ ยังไม่ได้กลับ หนูอยากกลับบ้านมากพี่ แต่แม้จะกักตัวครบ 14 วัน หนูก็ไม่รู้ว่าจะกลับบ้านที่ จ.อุดรธานี ได้ไหม เพราะรถทัวร์ระหว่างจังหวัดหยุดกันหมด

เป็นความรู้สึกของหญิงชาวจังหวัดอุดรธานีรายหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเดินทางกลับไทยพร้อมกับคนไทยกลุ่มแรกผ่าน 5 ด่านหลักใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้

โดยเจ้าหน้าที่จำกัดให้เดินทางเข้าประเทศ ไม่เกินวันละ 350 คน เพื่อให้สามารถคัดกรองการติดเชื้อ และเข้าสู่กระบวนการกักตัวที่มีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ยังมีคนไทยนอกระบบอีกกว่า 5,000 คนที่ต้องการ “กลับบ้าน” เช่นกัน

ติชิลา พุทธสาระพันธ์
ผู้สื่อข่าว ThaiPBS ศูนย์ข่าวภาคใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง