ธปท.กำชับแบงก์เร่งยื่นขอ "ซอฟต์โลน" ช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs

เศรษฐกิจ
7 พ.ค. 63
12:44
617
Logo Thai PBS
ธปท.กำชับแบงก์เร่งยื่นขอ "ซอฟต์โลน" ช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs
ธปท.กำชับทุกแบงก์เร่งยื่นขอวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs และห้ามเก็บค่าธรรมเนียม หลังเปิดรับคำขอ 2 สัปดาห์ มีแบงก์ขอใช้วงเงินเข้ามาแล้ว 36,000 ล้านบาท

วันนี้ (7 พ.ค.2563) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อซอฟต์โลนของแบงก์ชาติ วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท ที่เปิดรับคำขอมา 2 สัปดาห์แล้ว มีการใช้วงเงินไปแล้วทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 22,000 ราย มูลค่าสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ โดย 74% เป็น SMEs ที่อยู่ในต่างจังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล) และเป็น SMEs ขนาดเล็ก

ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่ตอบสนองต่อนโยบาย และยื่นคำขอเข้ามามากที่สุด คือธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะที่มีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่ยังส่งคำขอเข้ามาไม่มากหรือยังไม่ได้ยื่นคำขอเลย ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้กำชับและติดตามให้สถาบันการเงินเร่งช่วยเหลือลูกค้า

"ซอฟต์โลน" ยังมีวงเงินเหลือเพียงพอ

อย่างไรก็ดี การยื่นคำขอสินเชื่อซอฟต์โลนในช่วงที่ผ่านมายังมีไม่มากนั้น ส่วนหนึ่งเพราะมีวันหยุดหลายวันและหลายสถาบันการเงินใช้เวลามากกว่าที่คาดในเรื่องการจดจำนองหลักประกัน ทั้งนี้ ธปท.ได้ให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถส่งต่อสินเชื่อไปถึงลูกหนี้ SMEs ได้เร็วที่สุด

ธปท.ขอย้ำว่าซอฟต์โลนแบงก์ชาติ ยังมีวงเงินเหลือเพียงพอ พร้อมให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และขอให้สถาบันการเงินสื่อสารไปยังผู้ปฏิบัติงานที่สาขาให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้ซอฟต์โลน เช่น ห้ามคิดค่าธรรมเนียม ห้ามกำหนดเงื่อนไขการขายประกันต่างๆ เป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อ

แนะ SMEs ติดต่อขอสินเชื่อได้ที่แบงก์

ทั้งนี้ หากพบว่า SMEs นั้นขาดคุณสมบัติในการขอซอฟต์โลนให้พิจารณาช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ ตามแนวทางของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง

สำหรับ SMEs ที่ต้องการขอสินเชื่อซอฟต์โลนแบงก์ชาติ สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่ตนเองเป็นลูกค้า หากพบว่ามีปัญหาในการขอสินเชื่อดังกล่าว สามารถติดต่อ call center ของสถาบันการเงินนั้นๆ หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติ (ศคง.) โทร. 1213

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง