นักวิชาการเตรียมเสนอ 4 ทางจัดการลุ่มน้ำยมต่อรัฐบาล

สังคม
20 ส.ค. 54
07:58
8
Logo Thai PBS
นักวิชาการเตรียมเสนอ 4 ทางจัดการลุ่มน้ำยมต่อรัฐบาล

รัฐบาลกำหนดให้การบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นนโยบายเร่งด่วน และ วางแผนได้ภายใน 1 เดือน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งนักวิชาการ ออกมาระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมเสนอทางเลือกให้ ครม.พิจารณาแล้ว

รศ.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้รับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมแล้ว ซึ่งตามขั้นตอน อยู่ระหว่างรอนำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ต้องมีการแต่งตั้งใหม่ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

การศึกษาครั้งนี้ พบว่า ทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำยมมี 4 ทางเลือก แต่แนวทางที่ดีที่สุดและคุ้มค่าทั้งในเชิงวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ คือ การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นพร้อม ๆ กับพัฒนาสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ภายใต้งบประมาณรวมกว่า 10,000 ล้านบาท และ สามารถรับน้ำได้ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะใช้เวลาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 2 ปี เนื่องจากมีการออกแบบไว้แล้ว

ขณะที่อีกแนวทางที่เป็นไปได้คือ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน และ เขื่อนแม่น้ำยม แทนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในงบประมาณใกล้เคียงกัน แต่จะสามารถรับน้ำได้ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และ ยังต้องใช้เวลาออกแบบก่อสร้างพร้อมกับทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีก 4 ปี

ส่วนอีกสองแนวทางที่เหลือในการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยมได้แก่ การไม่สร้างเขื่อนแต่ใช้วิธีปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทาน และการสร้างแหล่งน้ำขนาดกลาง ซึ่งสองแนวทางนี้ผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ให้ความสำคัญน้อยที่สุด

นายเจน นำชัยศิริ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน กล่าวถึงกรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นว่า มีเป้าหมายที่ดีในการช่วยลดความผันผวนจากน้ำหลากและภัยแล้ง แต่หากรัฐบาลตัดสินใจที่จะสร้าง ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านชุมชนด้วย

ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญสำหรับการดูแลปัญหาน้ำคือ ภาครัฐควรจัดให้มีระบบสัญญาณเตือนภัยที่เกิดจากสถานการณ์น้ำให้ชัดเจน ทั้งจากปัญหาน้ำท่วมและสภาพน้ำแล้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายพร้อมรับเหตุการณ์ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ จะต้องประสานงานด้านสภาพอากาศ และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ทราบล่วงหน้า

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง