New Normal เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิต หลัง COVID-19 กำลังจะไป

สังคม
16 พ.ค. 63
13:50
12,585
Logo Thai PBS
New Normal เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิต หลัง COVID-19 กำลังจะไป
หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้หลายๆ คนต้องปรับวิถีชีวิตทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การพกสเปรย์แอลกอฮอล์ รวมถึงพฤติกรรมการกินที่ต้องปรับ เมื่อร้านอาหารต้องปิด กระทั่งรัฐบาลเริ่มคลายล็อกมาตรการต่างๆ แล้ว พฤติกรรมเหล่านี้ยังคงเป็น New Normal ของใครหลายๆ คน

วันนี้ (15 พ.ค.2563) หลายคนอาจเริ่มกลับไปทำงานที่ออฟฟิศกันแล้ว หลังต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) กันมานับเดือน ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไปจนกลายเป็น New Normal หรือ ความปรกติใหม่ สำหรับใครหลายคนหลังช่วง COVID-19 

เช็กของก่อนออกจากบ้านต้องมีอะไรเพิ่มมาบ้าง

พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าว่า หลังเกิดสถานการณ์ COVID-19 แม้นโยบายบริษัทจะให้ทำงานอยู่บ้าน แต่ภาระงานบางอย่างก็จำเป็นต้องเข้าไปทำในบริษัท ทำให้ต้องเตรียมความพร้อมในการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกวัน พร้อมกับการพกสเปรย์แอลกอฮอล์ 


ก่อนออกจากบ้านสิ่งที่ต้องเตรียมให้มีในกระเป๋านอกจากแล็ปท็อป เครื่องเขียน กระเป๋าเงินแล้ว ยังต้องมีหน้ากากผ้าสำรองไว้ในกระเป๋า สเปรย์แอลกอฮอล์ ทิชชูเปียก และถุงซิปล็อก 

ช่วงแรกที่ต้องพกของมากขนาดนี้ก็รู้สึกรำคาญ แต่พอเริ่มทำได้สักสัปดาห์ก็กลายเป็นความเคยชิน พอไม่มีก็จะรู้สึกทันทีว่าอะไรหายไป เหมือนทำโทรศัพท์หาย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ไปตลาด แล้วเห็นแม่ค้าขายเนื้อหมูใส่ถุงมือป้องกัน แต่เวลาหยิบเงิน ทอนเงินไม่ได้มีการถอดถุงมือออกแต่ใช้ถุงมือเดียวกันหยิบทั้งหมูและเงิน ก็ทำให้เริ่มคิดว่าเราอาจต้องขยับไปทำอะไรอีกสเต็ป คือ พกถุงซิปล็อกไว้ใส่เงิน โดยเมื่อสั่งซื้อสินค้าหรืออาหารแล้วจ่ายเงินด้วยแบงก์ใหญ่ ก็จะส่งถุงซิปล็อกให้คนขายใส่เงินทอนกลับมา 


เมื่อกลับถึงบ้าน ก็จะนำเงินมาแช่ในน้ำสบู่ แล้วก็นำไปตากแดดทุกครั้ง พร้อมฉีดแอลกอฮอล์พ่นใส่ซองซิปล็อกเพื่อทำความสะอาดด้วย ซึ่งคิดว่าเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนมาก แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้รู้สึกลำบากและเริ่มทำเป็นกิจวัตร 

อีกส่วนที่สำคัญคือ การเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน อาบน้ำสระผมทันที และล้างมือด้วยสบู่บ่อยมากขึ้น ทั้งหมดที่เล่ามานี้ ต้องบอกว่าบางคนอาจคิดว่า ทำมากไปหรือเปล่า แต่ด้วยทุกอย่างที่ทำ เป็นการทำเพื่อรักษาความสะอาดให้ตัวเอง อย่างการแช่เงิน แม้จะไม่มี COVID-19 เงินก็สกปรกอยู่แล้ว พอมี COVID-19 ก็เหมือนเป็นการกระตุ้นให้เราหันกลับมาใส่ใจอะไรเล็กๆ น้อยๆ และถึงแม้ช่วงนี้จะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

 

ทำอาหารกินเอง-สั่งออนไลน์พุ่ง ช่วงทำงานที่บ้าน

ส่วนพนักงานบริษัทอีกคนหนึ่ง เล่าว่า หลังจากเกิด COVID-19 ทำให้บริษัทมีนโยบาย Work From Home จึงต้องเริ่มทำงานที่บ้านทันที ช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ยอมรับว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารเริ่มเปลี่ยนไป ด้วยความไม่สะดวก เนื่องจากร้านค้า ร้านอาหารหลายแห่งปิดให้บริการ สิ่งที่ต้องทำคือการพึ่งตนเอง

ตลาดหรือซูเปอร์มาเก็ตใกล้ๆ ยังมีเปิดขายของสดอยู่บ้าง เลยตัดสินใจทำอาหารเอง เพราะเป็นผู้ชายตัวคนเดียว และอยู่คอนโด จะทำอะไรก็คิดเผื่อว่า ทำหนึ่งครั้งกินได้หลายมื้อ ของแถมที่ได้มาคือ ประหยัดมากขึ้นและมั่นใจในความสะอาดได้

ส่วนเรื่องรสชาติ ต้องขอแยกเป็นอีกเรื่อง เพราะปกติเป็นคนทำอาหารไม่เป็น แต่เมื่อต้องอยู่ให้ได้ ก็เลยเปิดยูทูบ ดูคลิปวิดีโอพร้อมกับการหัดทำอาหาร สิ่งที่ได้มาในช่วง Work From Home จึงกลายเป็นเสน่ห์ปลายจวัก 3-4 เมนู ทั้งต้มผักกาดดอก แกงหมู ผัดกะเพรา และผัดชะอม 


ขณะที่เลขานุการผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าว่า แม้ออฟฟิศจะให้ Work From Home แต่งานเลขานุการทำให้ต้องติดต่อสื่อสาร และทำงานเอกสารตลอดเวลา จึงต้องเข้าออฟฟิศบ่อยครั้ง ซึ่งผลกระทบหลังจาก COVID-19 คือ ร้านอาหารบริเวณรอบออฟฟิศปิดเกือบหมด สุดท้ายจึงตัดสินใจสั่งอาหารเดลิเวอรี

 


ด้วยความสะดวก รวดเร็ว เลือกได้หลากหลายร้าน ทำให้ช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ใช้บริการอาหารเดลิเวอรีแทบทุกวัน โดยเฉพาะมื้อเที่ยงและมื้อเย็น เพราะอยู่คนเดียว และที่หอไม่สามารถทำอาหารได้ การกดแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนจึงเป็นคำตอบสุดท้าย ที่สำคัญคือ สามารถจ่ายค่าอาหารผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งได้อีกด้วย

จริงๆ เป็นคนชอบนั่งกินที่ร้าน แต่พอร้านอาหารรอบออฟฟิศปิด ก็ทำให้ไม่มีทางเลือก จะไปซื้อในตลาดก็ไม่กล้า เพราะกลัวว่าเป็นพื้นที่แออัด อาจจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ COVID-19


ทั้งนี้ แม้ว่าจะผ่านช่วง COVID-19 ไปแล้วก็จะยังใช้บริการสั่งอาหารเดลิเวอรีต่อไป เพราะมีความสะดวกมากกว่าการเดินทางไปรับประทานเองที่ร้านอาหาร ในกรณีที่ร้านอยู่ไกล อีกทั้งเมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการแล้ว ทำให้ร้านอาหารกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่การเข้าไปรับประทานอาหารก็ยังมีขั้นตอนมากอยู่ ที่สำคัญคือ การแยกโต๊ะรับประทาน ดังนั้น เลือกสั่งเดลิเวอรีมารับประทานที่หอพักกับเพื่อนน่าจะฟังดูเข้าท่ากว่า

หลัง COVID-19 ยอดสั่งชาบู-ปิ้งย่างเพิ่มขึ้น 10 เท่า

วรานันท์ ช่วงฉ่ำ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด LINE MAN เปิดเผยว่า สำหรับเทรนด์บริการต่างๆ ในแอปพลิเคชัน LINE MAN นั้น มีอัตราเติบโตขึ้น แต่ไม่เท่ากับบริการเดลิเวอรีอาหาร ซึ่งเมื่อเทียบอัตราการเติบโตของธุรกิจพบว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อ COVID-19 สัปดาห์ต่อสัปดาห์ถึง 3 เท่า


นอกจากนี้ เทรนด์การสั่งอาหารที่เปลี่ยนไปก็น่าสนใจเช่นกัน โดยก่อน COVID-19 นั้น ลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งเครื่องดื่มและของหวานมากที่สุด แต่หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสและเริ่มมีการออกมาตรการ Work From Home ให้คนหันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น การสั่งอาหารก็เปลี่ยนไปเป็นเน้นสั่งอาหารคาวเป็นหลัก โดยเฉพาะข้าวมื้อเที่ยงและมื้อค่ำ

ต้องบอกว่า อาหารที่มียอดเติบโตและคนสั่งมากที่สุด คือ ประเภทชาบู-ปิ้งย่าง ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า จากช่วงก่อน COVID-19 ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการอาจจะต้องจับตามองต่อ


สำหรับปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรีเพิ่มมากขึ้นนั้น คาดว่ามาจากการต้องทำงานอยู่บ้าน ไม่สะดวกกับการออกไปข้างนอก และยังไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการทำอาหารรับประทานเอง จึงตัดสินใจสั่งอาหารเดลิเวอรีแทน

ทั้งนี้ หลังช่วง COVID-19 ยังคงมั่นใจว่าลูกค้าจะยังสั่งอาหารเดลิเวอรีมากขึ้น เพราะมีกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง COVID-19 ซึ่งการบริการเดลิเวอรีเป็นการอำนวยความสะดวกลูกค้าให้เลือกช่องทางการสั่งซื้ออาหารผ่านแอปพลิเคชันจนกลายเป็นความปรกติใหม่ อีกทั้ง LINE MAN ยังเพิ่มมาตรการเพื่อเพิ่มความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับลูกค้า โดยเน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลัก


โอกาสร้านอาหารปรับตัว พร้อมรับวิกฤตแบบไม่ขาดรายได้

นอกจากจำนวนออร์เดอร์ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว จำนวนร้านอาหารที่เข้าร่วมแอปพลิเคชัน LINE MAN ก็เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จากช่วงก่อน COVID-19 ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ร้านอาหารเห็นถึงความสำคัญของการขายอาหารแบบเดลิเวอรี และเพื่อให้มั่นใจว่าแพลตฟอร์มส่งเดลิเวอรีไม่ใช่ส่วนที่จะมาเป็นคู่แข่ง แต่เป็นส่วนช่วยเพิ่มยอดขายในช่วงวิกฤตให้ร้านอาหารยังมีรายได้ต่อไปได้ 


ขณะที่ LINE MAN ยังได้เห็นเทรนด์การซื้อสินค้าอุปโภคที่เพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์การล็อกดาวน์ ทำให้ห้างสรรพสินค้าปิด อีกทั้งยังได้ติดตามเทรนด์ของกลุ่มลูกค้าช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในคอนโดมาต่อเนื่อง จึงได้เริ่มออกฟังก์ชันใหม่ LINE MAN Mart เพื่ออำนวยความสะดวกวัยรุ่น-วัยทำงานที่ไม่มีเวลาเดินห้างสรรพสินค้า และไม่สะดวกออกไปข้างนอก ได้สั่งซื้อสินค้าอุปโภคผ่านแอปพลิเคชันและรอรับสินค้าได้จากบริการเดลิเวอรีอีกด้วย

 

Gen-Y สั่งอาหารออนไลน์มากสุด 40% สั่งเพราะไวรัส

ขณะที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สำรวจพฤติกรรมทางออนไลน์ เรื่อง “การใช้บริการ Online Food Delivery ของคนไทย” ระหว่างวันที่ 5 – 15 มี.ค.ที่ผ่านมา

จากการสำรวจที่มีผู้ตอบทางออนไลน์รวม 376 คน เป็นผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ถึง 85% และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า

  • กลุ่ม Gen Y (อายุ 19-38 ปี) ใช้บริการมากที่สุดถึง 51.09%
  • กลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี)
  • กลุ่ม Baby Boomer (อายุ 55-73 ปี) 
  • กลุ่ม Gen Z (อายุต่ำกว่า 19 ปี)

เหตุผลที่สั่ง และแพลตฟอร์มฮอตฮิต ผู้คนทุกกลุ่มนี้มีเหตุผลที่ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ โดย 3 อันดับแรก คือ

  • ไม่อยากจะเดินทางไปนั่งกินที่ร้านเองมากถึง 80.37%
  • ไม่อยากเสียเวลาไปนั่งต่อคิวถึง 57.63%
  • ส่วนลดใน Application หรือช่องทางไหน ๆ ก็มีให้เลือกใช้ถึง 47.04%


ETDA ยังพบว่า ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ของคนไทยด้วย โดยกลุ่มที่เลือกใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ เพราะกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากที่สุด

  • Gen Y 40.2%
  • Gen Z 30.0%
  • Baby Boomer 28.6%
  • Gen X 26.9%
  • โดยมีตัวเลขเฉลี่ยทั้งหมด 33.96%

สั่งอะไรกันบ้าง ช่วงเวลาไหน จ่ายค่าอาหารเท่าไหร่?

อาหารยอดฮิตคือฟาสต์ฟู้ดต่างๆ เช่น ไก่ทอด เบอร์เกอร์ พิซซ่า เป็นอาหารยอดนิยมที่ทุก Gen สั่งมากกว่า 61.06% รองลงมาคือ อาหารตามสั่ง 47.04% และก๋วยเตี๋ยว/อาหารประเภทเส้น 40.50%

ช่วงเวลาที่คนสั่งอาหารมากสุด คือ

  • มื้อกลางวัน (11.00 – 13.00 น.) 42.06% 
  • มื้อเย็น (17.00 – 20.00 น.) 39.88% 
  • มื้อบ่าย (14.00 – 16.00 น.) 14.02%

 

นอกจากนี้ หลายคนยังชอบสั่งอาหารออนไลน์เพื่อรับประทานที่บ้านมากที่สุด 87.85% รองลงมาคือที่ทำงาน 46.11% ด้านยอดการจ่ายเงินในการสั่งอาหารแต่ละครั้ง พบว่า

  • กลุ่ม Gen X ใช้จ่ายมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ที่ 501 – 1,000 บาท
  • กลุ่ม Baby Boomer ส่วนใหญ่ใช้จ่าย 301 – 500 บาท
  • กลุ่ม Gen Y และ Gen Z ใช้จ่ายไม่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่อยู่ที่ 101 – 300 บาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง