โอนเงินเยียวยาเกษตรกร วันแรก 1 ล้านคน

เศรษฐกิจ
15 พ.ค. 63
20:23
3,891
Logo Thai PBS
โอนเงินเยียวยาเกษตรกร วันแรก 1 ล้านคน
รัฐบาลเริ่มจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 กลุ่มแรก 1 ล้านคน จากผู้ผ่านสิทธิ์จำนวน 6.77 ล้านคน โดย ธ.ก.ส.ระบุสามารถโอนเงินให้เกษตรกรได้ครบเกือบทั้งหมด เหลือเพียง 200 บัญชีที่ไม่สามารถโอนได้ เนื่องจากบัญชีถูกปิดไป

วันนี้ (15 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่มา เกษตรกรในหลายจังหวัดไปรอถอนเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.เริ่มจ่ายให้กับเกษตรกรกลุ่มแรกที่ผ่านการคัดกรองสทธิทิ้งหมด 6.77 ล้านคน โดย 1 ล้านคนแรกจะได้รับเงินเยียวยา ครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน

เช่น ที่ ธ.ก.ส.สาขา บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรมาถอนเงินอย่างคึกคักเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายและลงทุนเพาะปลูก ขณะที่เกษตรกรบางคน แม้จะอยู่ในพื้นที่ อ.บางคล้า ที่ทำอาชีพเลี้ยงกุ้ง บอกว่า แม้จะมีการลงทะเบียนกับกรมประมงแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน

เร่งโอนเงินให้เกษตรกรวันละ 1 ล้านคน

ผู้จัดการ ธนาคาร ธ.ก.ส.ระบุว่า ภาพรวมการโอนเงินจากมาตรการเยียวยาเกษตรกรวันแรก 1 ล้านคน สามารถโอนเงินให้เกษตรกรได้เกือบทั้งหมด และมีบัญชีที่ไม่สามารถโอนได้ เนื่องจากบัญชีถูกปิด จำนวน 200 บัญชี นอกจากนี้ ยังพบว่าในจำนวนผู้ได้รับสิทธิผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 6.77 ล้านคน มีบัญชีที่ไม่ถูกต้อง ไม่แจ้งเลขบัญชีอีกประมาณ 20,000 คน โดยขอให้รีบแจ้งเลขบัญชีผ่านทางเว็บไซต์เยียวยาเกษตรกร.com

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะทยอยโอนเงินทุกวันวันละ 1 ล้านคน คาดว่าเกษตรกรกลุ่มแรก ที่มีจำนวน 6.77 ล้านคน จะได้รับเงินภายในวันที่ 26 พ.ค.นี้

เกษตรกร กลุ่ม 2 รอตรวจสอบสิทธิก่อน

ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่ขึ้นทะเบียนใหม่และมีการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรที่ปิดรับการขึ้นทะเบียนในวันนี้ จะต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสิทธิ

เล็งชง ครม.เยียวยา ขรก.ทำอาชีพเกษตร

ส่วนกลุ่มที่ 3 ที่เป็นกลุ่มที่ยังไม่ปลูกพืช แต่มีความประสงค์ที่จะปลูกพืชตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - มิ.ย.นี้ เนื่องจากไม่มีน้ำทำการเกษตร ทำให้การเพาะปลูกล่าช้าออกไป จะต้องรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเยียวยาเพิ่มเติม รวมทั้งกลุ่มข้าราชการที่ทำอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพสำรองด้วย ส่วนเกษตรกรที่มีรายชื่อตกหล่น ขึ้นทะเบียนไม่ได้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเปิดให้มีการอุทธรณ์ต่อไป

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง