ก้าวผ่าน COVID-19 “เทคโนโลยี” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น

สังคม
20 พ.ค. 63
10:50
28,116
Logo Thai PBS
ก้าวผ่าน COVID-19  “เทคโนโลยี” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น

COVID-19 กระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก หลายประเทศพยายามลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยขอความร่วมมือเว้นระยะห่างทางสังคม แต่การที่หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน กลับเป็นแรงบีบให้พฤติกรรมหลายอย่างจำเป็นต้องเปลี่ยนไป

"เทคโนโลยี" กลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตช่วงนี้สะดวกขึ้น พนักงานบริษัทสามารถทำงานได้จากที่บ้าน เช่นเดียวกับการเรียน ช้อปปิ้ง รับชมคอนเสิร์ต หรือแม้การประกอบพิธีทางศาสนา ที่ต้องปรับเป็นรูปแบบออนไลน์

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างปกติที่สุด เชื่อว่าเมื่อปรับตัวหลังจากผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว ทุกอย่างจะเป็นเรื่องปกติ สอดคล้องกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal

อ่านข่าว : "เวียนเทียนออนไลน์" วิถีใหม่ ทุกศาสนาฝ่าวิกฤตยุค COVID ระบาด
             : นอนบนเตียง-โบกแท่งไฟ ดู "คอนเสิร์ต" ที่บ้าน สไตล์ New Normal
             : New Normal เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิต หลัง COVID-19 กำลังจะไป

“นวัตกรรม - เทคโนโลยี” ช่วยรักษาระยะห่าง 

วิกฤตในหลายครั้งมักจะมีการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เสมอ วิกฤตโรค COVID-19 ก็เช่นกัน ภาคส่วนต่างๆ นำนวัตกรรม และเทคโนโลยี เข้ามาเป็นกำลังเสริม ทั้งเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค อำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตได้อีก

ด้านการแพทย์ นอกจากจะต้องเร่งคิดค้นและพัฒนาวัคซีน เพื่อมาจัดการกับไวรัส COVID-19 แล้ว การพัฒนาเทคโลยีต่างๆ เพื่อช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน

ขณะที่บุคลากรด้านการแพทย์ ซึ่งถือเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับการระบาดในครั้งนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อรักษาช่วยชีวิตผู้ป่วยทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เทคโนโลยีจึงทำให้การทำงานปลอดภัยกว่าเดิม

ภาพ : หุ่นยนต์ลาดตระเวนตรวจสอบอุณหภูมิ เพื่อคัดกรองประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในมณฑลเหลียวหนิงของจีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

ภาพ : หุ่นยนต์ลาดตระเวนตรวจสอบอุณหภูมิ เพื่อคัดกรองประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในมณฑลเหลียวหนิงของจีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

ภาพ : หุ่นยนต์ลาดตระเวนตรวจสอบอุณหภูมิ เพื่อคัดกรองประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในมณฑลเหลียวหนิงของจีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

 

ในช่วงเริ่มการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น จีนนำ "หุ่นยนต์" เข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งหุ่นยนต์ส่งอาหารและยา ช่วยลดการทำงานและลดอัตราการติดเชื้อแก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงลดการใช้ชุดป้องกัน

เทคโนโลยียังช่วยให้การตรวจวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น โดยจีนยังใช้ CT Scan ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ COVID-19

ไต้หวันได้พัฒนาเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง Virtual Reality สอนนักเรียนแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ฝึกขั้นตอนรักษา โดยไม่จำเป็นต้องทดลองรักษากับคนไข้จริง ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับแพทย์และคนไข้

ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องปรับตัวลดการรวมกลุ่ม ศูนย์ข้อมูลเพื่อ ธุรกิจไทยในจีน ยกตัวอย่างศาลของเซี่ยงไฮ้ใช้เทคโนโลยีออนไลน์ช่วยในการว่าความโดยให้มีการตัดสินคดีและรับฟังคำพิพากษาแบบ RealTime รวมถึงสามารถยื่นคำร้องเพื่อพิจารณาคดีออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์ในช่วงการแพร่ระบาด

ตำรวจเซี่ยงไฮ้ใช้โดรน ในการลาดตระเวนแทน ทำให้สามารถตรวจพื้นที่เสี่ยงได้อย่างครอบคลุม รวมทั้งใช้โดรนในการตรวจ และควบคุมคนงาน ที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงให้กักตนเองภายในบ้าน

นอกจากนี้ ที่หมู่บ้านในมณฑลเหอหนานตอนกลางของจีน ยังมีการใช้โดรนฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

ภาพ : โดรนฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อ

ภาพ : โดรนฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อ

ภาพ : โดรนฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อ

COVID-19 ดันเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในจีนโต

วิกฤต COVID-19 สร้างความตื่นตัวของอุตสาหกรรมสุขภาพในจีน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า หุ่นยนต์กลายมาเป็นผู้ช่วยทางการแพทย์ที่สำคัญในโรงพยาบาลของจีน เพราะอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัส หลายบริษัทได้เริ่มทดสอบหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติภายใน และโดรนส่งของตั้งแต่ปีที่แล้ว

นี่เป็นครั้งแรก ที่มีการปรับใช้ยานพาหนะขนส่งอัตโนมัติ บนถนนสาธารณะ

ขณะที่นักวิเคราะห์ มองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้จะช่วยผลักดันวงการแพทย์ของจีนไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูงยุคหุ่นยนต์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ในเดือน ธ.ค.2562 และคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้

รัฐบาลจีนประกาศว่า การต่อสู้กับโรคระบาดไม่สามารถทำได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิกฤตครั้งนี้จะทำให้วงการเทคโนโลยีของจีนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายเทคโนโลยีมีโอกาสนำมาใช้งานจริงในช่วงนี้

ภาพ : หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อควบคุมจากระยะไกลเพื่อฆ่าเชื้อในพื้นที่ชุมชน ท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตอนกลางของจีน

ภาพ : หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อควบคุมจากระยะไกลเพื่อฆ่าเชื้อในพื้นที่ชุมชน ท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตอนกลางของจีน

ภาพ : หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อควบคุมจากระยะไกลเพื่อฆ่าเชื้อในพื้นที่ชุมชน ท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตอนกลางของจีน

ฝีมือคนไทย ช่วยนักรบชุดขาว 

ขณะที่ประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างร่วมกันคิดค้น พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี มาเป็นแรงสนับสนุนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนได้รักษาระยะห่างด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์บริการทางการเแพทย์ ให้คำปรึกษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicline ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์ และกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วย COVID-19 สื่อสารโต้ตอบผ่านระบบ VDO Conference

ช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ ควบคุมสั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนาหุ่นยนต์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย "CISTEMS" รับส่งอาหารและยา พร้อมส่งอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างการตรวจและติดตามอาการ ลดความเสี่ยงบุคคากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ตลอดจนช่วยลดการใช้อุปกรณ์ทางการแพย์ อาทิ ชุด PPE หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง 

ภาพ : หุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้ป่วย

ภาพ : หุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้ป่วย

ภาพ : หุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้ป่วย "CISTEMS"

 

มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์ "เวสตี้" เก็บขยะติดเชื้อ ใช้แขนกลยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ บรรทุกได้สูงสุดถึง 500 กิโลกรัม ทำงานด้วยระบบนำทางด้วยเทปแม่เหล็ก เคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 8 เมตรต่อนาที

ผู้พัฒนาบอกด้วยว่า หากใช้หุ่นยนต์ตัวนี้ใน 4 โรงพยาบาล จะสามารถขนส่งขยะติดเชื้อได้ประมาณ 10 ตันต่อวัน ช่วยลดปัญหาการหยุดชะงักของการบริการขนส่ง

นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ "ฟู้ดดี้" ส่งอาหารและยาในหอผู้ป่วย 200 คนต่อวัน ช่วยลดภาระบุคลากรในโรงพยาบาลจากการสัมผัสตรงกับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยใช้ระบบนำทางอัจฉริยะด้วยข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบคิวอาร์โค้ด ทำให้ง่ายต่อการขนส่งครั้งละมาก ๆ คาดว่าจะทดแทนการใช้แรงงานในโรงพยาบาลได้มากกว่าร้อยละ 30

ภาพ : หุ่นยนต์

ภาพ : หุ่นยนต์

ภาพ : หุ่นยนต์ "เวสตี้" เก็บขยะติดเชื้อ และ "ฟู้ดดี้" ส่งอาหารและยาในหอผู้ป่วย

 

ขณะที่ไทยกำลังคลายล็อกกิจการต่างๆ ให้กลับมาเปิด หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ขึ้นมาเพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการร้านค้า

ผู้ประกอบการลงทะเบียนรับ QR Code มาแปะไว้หน้าร้านให้ผู้ใช้บริการสแกน เช็กอินและเช็กเอาท์ หรือสแกนก่อนเข้าใช้และหลังใช้บริการ เพื่อจะได้รู้ความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในแบบเรียลไทม์ หากมีการตรวจพบมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 และผู้ใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็จะมีข้อความจากระบบให้ไปตรวจ COVID-19 ฟรี

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

 

แอปพลิเคชัน ช่วย WFH สะดวกขึ้น

องค์กร บริษัท อาจได้เรียนรู้การทำงานแบบ work everywhere ทำงานจากที่ใดก็ได้ที่ยังคงได้ประสิทธิภาพเหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน "ZOOM" กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้พนักงานและหน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ผ่านการสื่อสารด้วยวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ที่สามารถใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เข้าประชุมพร้อมกันได้ถึง 100 คน สามารถพิมพ์ตอบโต้ข้อความ หรือส่งรูปภาพถึงกันได้ และที่สำคัญ หากใช้ประชุมไม่เกิน 40 นาที สามารถเข้าใช้งานได้ฟรี

 

ความพิเศษในการสื่อสารที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ยุ่งยาก สามารถเข้าประชุมได้เพียงแค่กดลิงก์และกรอกรหัส ทำให้ยอดการเติบโตในการใช้งานของแอปพลิเคชัน ZOOM เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ในช่วงเดือน มี.ค.ปี 2019 มีผู้ใช้แอปพลิเคชั่น ZOOM ประมาณ 10 ล้านครั้ง และในช่วงเดือน มี.ค.2020 มีผู้ใช้มากถึงวันละ 200 ล้านครั้ง ได้รับความนิยมทั้งพรรคการเมือง สำนักงาน บริษัท โรงเรียน และองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ที่ต้องทำงานอยู่บ้านท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการใช้แอปพลิเคชัน ZOOM เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาความไม่ปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งในสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากหวั่นข้อมูลรั่วไหล

ทั้งยังส่งผลให้หุ้นของบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาลดลงต่อเนื่อง ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้ออกมายอมรับข้อผิดพลาด และประกาศเร่งพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน

HONGKONG-HEALTH-VIRUS-FITNESS,FOCUS BY JEROME TAYLOR 

ภาพ : กลุ่มนักเรียนที่ปรากฏบนหน้าจอผ่านแพลตฟอร์มการประชุมวิดีโอออนไลน์

HONGKONG-HEALTH-VIRUS-FITNESS,FOCUS BY JEROME TAYLOR ภาพ : กลุ่มนักเรียนที่ปรากฏบนหน้าจอผ่านแพลตฟอร์มการประชุมวิดีโอออนไลน์ "ZOOM" ระหว่างชั้นเรียนโยคะบนเกาะลันเตาในฮ่องกง

 

แม้การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่หลายๆ คน ยังต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) และอาจจะมีการพัฒนาไปใช้การประชุมออนไลน์อย่างกว้างแบบจนเป็นปกติในแบบวิถีใหม่

แต่สิ่งสำคัญของการสื่อสารในการทำงานนั้น ผู้ประกอบการยังต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หลังวิกฤต COVID-19 ผู้คนอาจต้องใช้ชีวิตระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เทคโนโลยีอาจจะกลายเป็นด้านหน้าให้กับมนุษย์หลายเรื่อง ขณะที่ธุรกิจก็อาจต้องปรับตัว เช่น ฟิตเนสหลายแห่งปรับมาใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ ให้เทรนเนอร์นำสมาชิก หรือผู้ที่สนใจ ออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ทั้งเต้น บอดี้เวท และคาร์ดิโอ เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย แม้จะอยู่ในช่วงกักตัวที่บ้าน


ระหว่างรอวัคซีน 

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ยังคงต้องรอ หลายคนหวังว่า เมื่อมีวัคซีน และมีการใช้อย่างกว้างขวางแล้ว จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม

กว่าจะถึงตอนนั้นอาจยาวนาน 1-2 ปี คนจำนวนมากต้องปรับวิถีชีวิตไปแล้ว การจะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมหลังจากนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนยังต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อต่อไปอีก

 

ถึงแม้มาตรล็อกดาวน์ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง แต่ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมเลย และไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้วางกันไว้ การระบาดของโรคก็อาจเกิดระลอกใหม่ได้อีก การใส่หน้ากากอนามัย จะยังมีความจำเป็นและสำคัญมาก นั่นจะเป็นการช่วยป้องกันการแพร่เชื้อจากเราไปสู่คนอื่น

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า COVID-19 ถือว่าเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง บางอย่างอาจถูกนำมาใช้เร็วขึ้น พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อย่างเช่นเรื่องเทคโนโลยี ที่มีส่วนช่วยให้องค์กรและธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้

การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking เงินดิจิทัล จะมีการใช้มากขึ้น เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์ สิ่งนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการใช้เงินกระดาษ

หลายคนอาจไม่คุ้นเคย หรืออาจกังวลถึงความปลอดภัยในการใช้งาน แต่เชื่อว่าผ่านช่วงการระบาดนี้ไปแล้ว คนจะเห็นถึงประโยชน์

หากจะพูดถึง วิธีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ตอนนี้คงจะไม่ใช่สำหรับทุกคน อาจจะใช้ได้ 30 % แต่ในอนาคต ทุกคนปรับตัว หลายอย่างที่เรากำลังเริ่มทำในตอนนี้ จนเป็นเรื่องปกติ

ในอนาคตจะมีคนใช้งานมากขึ้น เช่น คนที่อาจจะ Work From Home ทุกวันตอนนี้ ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็น Work From Home บางวัน เวลาทำงานที่มันมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

 

เทคโนโลยีที่เติบโตเร็ว หลายคนเป็นห่วงเรื่องกลุ่มคนจน ผู้มีรายได้น้อยจะเข้าไม่ถึงหรือตามไม่ทัน

การที่คนไทยจำนวนมาก สามารถเข้ามาลงทะเบียนกับโครงการรับเงินเยียวยา ซึ่งมีผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนกว่า 20 ล้านคน เป็นสัญญาณที่ดี ที่บ่งบอกว่า คนไทยรวมไปถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก มีความคุ้นเคยกับการใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนมากขึ้น แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่มาลงด้วยตัวเอง หรือว่าทุกคนมีสมาร์ทโฟน

รัฐบาลควรจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาในส่วนนี้ พร้อมกับกำกับดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น เช่น มีการจัดไวไฟหรืออินเทอร์เน็ตพื้นฐานให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจะทำ และวันนี้มันอาจทำได้ง่ายกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน

การเกิด New Normal ต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี

ในด้านของการแพทย์เอง เทคโนโลยีพวกวีดีโอคอล มันก็มีใช้กันมาในช่วงเวลานานพอสมควรแล้ว อย่างเช่น การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางไกล มีการใช้ AI ในการดูผลเอกซเรย์ต่างๆ ต่อไปอาจจะพัฒนามากขึ้นไปเป็นการตรวจคนไข้ทางไกลมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรวมทำให้คนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

ถึงตรงนี้จะมองเห็นภาพว่า คำว่า "อนาคต" ของ "เทคโนโลยี" จะไม่ยาวไกลอีกต่อไป ฉะนั้นทุกเพศและทุกวันจะต้องปรับตัวเพื่อยอมรับกับมัน เพราะความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเพียง "ชั่วข้ามคืน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง