มติ กนง.ไม่เอกฉันท์ ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.50 ต่อปี

เศรษฐกิจ
20 พ.ค. 63
14:36
390
Logo Thai PBS
มติ กนง.ไม่เอกฉันท์ ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.50 ต่อปี
ที่ประชุม กนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยมีผลทันที หลังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หดตัวแรงกว่าคาด

วันนี้ (20 พ.ค.2563) นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที หลังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ หดตัวต่ำกว่าประมาณการณ์เดิมที่ติดลบร้อยละ 5.3 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ที่หดตัวรุนแรง จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก เช่นเดียวกับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบกว่าประมาณการณ์เดิม ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระบบ เปราะบางมากขึ้น

 

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

ลดดอกเบี้ยนโยบายช่วยหนุนมาตรการทางการคลัง


ทั้งนี้ กรรมการ กนง.เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะช่วยสนับสนุนมาตรการทางการคลัง และมาตรการสินเชื่อบรรเทาผลกระทบ และการฟื้นฟูกิจการ แต่ต้องเร่งรัดมาตรการทางการเงิน และการติดตามปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการเงินต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมประเมินผลจากการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ บีเอสเอฟ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงและอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น

จับตาหุ้นกู้ "การบินไทย" กระทบสหกรณ์ออมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองสถานการณ์สหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนตราสารหนี้ หลังบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถูกลดอันดับความน่าเชื่อ ตลอดจนการดูแลสภาพคล่องในระบบที่มีสูง ให้กระจายลงสู่ภาคธุรกิจ และครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ COVID-19 โดยเร็ว หลังธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF fee ชั่วคราว เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง

ห่วงค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ กนง.กังวลสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงจะติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือที่มีอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น ขณะที่ในระยะข้างหน้า ธนาคารพาณิชย์อาจเผชิญความเปราะบางด้านเสถียรภาพ กรณีธุรกิจ และครัวเรือน ผิดนัดชำระหนี้ หรือการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบลูกหนี้ จึงกำชับให้ธนาคารพาณิชย์ติดตามปรับปรุงโครงสร้างลูกหนี้ เร่งรัดสินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ และยังเชื่อมั่นว่า มาตรการทางการคลัง และมาตรการการเงิน ขณะนี้ เพียงพอต่อการรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง