วิษณุชี้ต้องมีมาตรการรองรับ หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

การเมือง
30 พ.ค. 63
12:23
469
Logo Thai PBS
วิษณุชี้ต้องมีมาตรการรองรับ หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ชี้ถึงความจำเป็นที่ ครม.ต้องออกกฎหมายควบคู่กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อป้องกันเหตุลักลั่น และอุดช่องโหว่ควบคุมโควิด-19 หลังรัฐบาลยกเลิกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หากสถานการณ์คุมไม่ได้สามารถประกาศ พ.ร.ก.ใหม่ได้

วันนี้ (30 พ.ค.2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีที่มีข่าวว่านายกรัฐมนตรี เตรียมแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษารองรับ เมื่อต้องยกเลิกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตน และ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพราะจำเป็นต้องมีการพิจารณาจะใช้กฎหมายใด หรือออกมาตรการอะไรมารองรับ เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่มีความละเอียดอ่อน หากเลิกประกาศใช้ไปแล้วไม่มีสิ่งใดมารองรับจะเกิดปัญหาตามมา

เมื่อถึงเวลาเกิดปัญหาแล้ว ก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกครั้ง ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ที่บัญญัติ ว่ากรณีที่จำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการเองได้ก่อน

จากนั้นจึงไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน หากไม่ขอครม.ภายในกำหนดถือว่าประกาศสถานการณ์นั้นสิ้นสุดไป

นายวิษณุกล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะเป็นกฎหมายแม่ที่ยังคงอยู่ แต่เมื่อจะใช้บังคับต้องออกกฎหมายลูก คือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่นายกฯ ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.และหากยกเลิกประกาศใช้ไปแล้ว ต่อมาเกิดปัญหาแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงที่สุด ก็ไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกก็ได้ แต่สามารถนำมาตรการอื่นมาใช้ได้ โดยไม่ใช้กฎหมายความมั่นคง เพราะสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการได้ แต่อาจเกิดความลักลั่นในบางกรณี

ดังนั้นอาจจะออกมติ ครม. มาอุดช่องโหว่ในเรื่องตรงนี้ได้ เนื่องจากต้องปฎิบัติตามมติ ครม.ส่วนมาตรการที่จะออกมารองรับนั้น ทางคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จากสถาบันการศึกษา และจากกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันพิจารณาด้วย

นายวิษณุกล่าวต่อว่า คณะแพทย์ และด้านสาธารณสุข มีการประเมินสถานการณ์การระบาด COVID-19 ทุกวัน โดยฝ่ายของคณะแพทย์ จะเป็นคนให้คำแนะนำ และในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้พูดคุยกันว่า จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปถึงเมื่อใด ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียึดเงื่อนไขสำคัญที่ในการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือเรื่องความปลอดภัยทางสาธารณสุขต้องเป็นที่วางใจได้ก่อน

ซึ่งข้อกำหนดฉบับที่จะออกมา มีการระบุคำปรารภเอาไว้ว่า ช่วงการผ่อนปรนระยะที่ 3 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะในต่างประเทศมีการแพร่ระบาด และมีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ และใกล้จะผ่อนคายอาจมีการลองดีลองของ ไม่กลัวหรือชะล่าใจ เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม เดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่ระมัดระวัง หรือกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนไม่ทำตามข้อกำหนด ส่วนคนที่ฝ่าฝืนแม้ถูกจับหรือดำเนินการตามกฎหมาย แต่ก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ มีการติดเชื้อหลังเปิดภาคเรียนก็เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง