"ซอฟท์โลน" กับข้อกล่าวหาเอื้อนายทุน ปล่อยกู้ต่อ-ใช้เล่นหุ้น

การเมือง
30 พ.ค. 63
20:31
1,055
Logo Thai PBS
"ซอฟท์โลน" กับข้อกล่าวหาเอื้อนายทุน ปล่อยกู้ต่อ-ใช้เล่นหุ้น
ไม่เว้น ส.ส.ขั้วรัฐบาล รุมชำแหละช่องโหว่ "ซอฟท์โลน" กล่าวหาปล่อยซอฟท์โลนเอื้อทุนใหญ่ พบนำเงินปล่อยกู้ต่อ-เล่นหุ้น ด้าน ผู้ว่า ธปท. ขอข้อมูล ส.ส. ถ้าพบใช้เงินผิดวัตถุประสงค์จริง ริบคืนพร้อมลงโทษสถาบันการเงิน

วันนี้สปอร์ตไลท์ในสภาฯ ส่องไปที่ พ.ร.ก.ฉบับที่ 2 ที่ให้อำนาจ ธปท.ปล่อยซอฟท์โลน (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) ผ่านสถาบันการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากสุด

พ.ร.ก.ฉบับนี้กำหนดวงเงินไว้ที่ 5 แสนล้านล้านบาท

เมื่อครบ 2 ปี สถาบันการเงินต้องทยอยคืนเงินเหล่านี้กลับคือสู่กระเป๋าเงินของรัฐ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ นายวิรไท สันติประภท ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำนักย้ำหนาทั้งใน-นอกสภาฯ ว่านี่ไม่ใช่ “เงินกู้” และไม่เป็นภาระต่อลูกหลานต้องชดใช้

วันนี้ (30 พ.ค.2563) วันที่ 4 ของการถก พ.ร.ก.เงินกู้ ปรากฎว่าการปล่อยกู้ซอฟท์โลนเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลของ นายธีรัจชัย พันธุมาส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จั่วหัวด้วยข้อมูลที่น่าตกใจ

ปูดข้อมูลว่ามีเอสเอ็มอีรายใหญ่ กู้ซอฟท์โลน เอาไปเล่นหุ้น-ปล่อยกู้ต่อ เพื่อฟันกำไร

นายธีรัจชัย ชี้ถึงข้อจำกัดที่ทำให้เอสเอ็มอีรายย่อยเข้าไม่ถึงเงินกู้ โดยเฉพาะเงื่อนไขของธนาคาร ที่ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับ “ลูกค้า” ซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารก่อน เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือมีสินเชื่อของธนาคาร

 

จำแนก เอสเอ็มอี 3 ล้านราย แบ่งเป็น เอสเอ็มอีที่มีสินเชื่อธนาคาร 1.9 ล้านราย และ เอสเอ็มอีที่มีสินเชื่อ-หลักประกัน 1.1 ล้านราย ซึ่งกลุ่มหลังที่เข้าไม่ถึงเงินกู้ เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ร้านค้า ร้านกาแฟ รีสอร์ต ฯลฯ เดือดร้อนเหมือนกันแต่ถูก “ขีดออก” ไม่มีสิทธิเข้าถึงเงินกู้

ข้อสังเกตอีกชุด คือเงื่อนไขเข้าถึงเงินกู้ที่ไม่สัมพันธ์การจ้างงาน “กู้ 20%” เหมือนกัน แต่ไม่เหมือน สมมติ เอสเอ็มอีรายเล็ก มีหนี้ 1 ล้านบาท กู้ได้ 2 แสนบาท แต่มีลูกจ้าง 10 คน "ธุรกิจคงไปได้ไม่กี่น้ำ"

แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ มีหนี้ 500 ล้าน จะกู้ได้ถึง 100 ล้านบาท "จะกู้ไปทำอะไรก็ได้”

นี่คือ พ.ร.ก.ที่ฉ้อฉล มีวาระซ่อนเร้น เอื้อต่อทุนใหญ่หรือไม่

อีกหนึ่งข้อกล่าวหารุนแรงที่จั่วหัวไว้ข้างต้น อ้างว่าได้รับข้อมูลว่า มีบริษัทใหญ่หลายแห่งเป็นลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารพาณิชย์ ได้เงินกู้แล้วนำไป “ปล่อยกู้ต่อ” หรือ “เอาไปเล่นหุ้น” เพื่อหวังกำไรด้วย

รัฐบาลถูกครหา “อุ้มคนรวยอวยเศรษฐี”

นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. “มีเจตนาดี แต่ถ้าขั้นตอนไม่รัดกุม” โดยแบ่งเอสเอ็มอีเป็น 2 กลุ่ม คือ “คนอยากไม่ได้ –คนได้ไม่อยาก”

พ.ร.ก.เปิดโอกาสให้กผู้ประกอบการกู้ธนาคารสูงถึง แห่งละ 500 ล้านบาท เมื่อตรวจดูพบว่าเมืองไทยมีธนาคารพาณิชย์ 20 แห่ง เท่ากับว่าอาจมีวงเงินกู้ถึง 10,000 ล้านบาท

"แปลว่า พ.ร.ก.ตัวนี้ให้โอกาสคนตัวใหญ่ระดับหมื่นล้านใช้สิทธิซอฟท์โลนนี้ได้"

 

ทั้งนี้เงื่อนไข พ.ร.ก.นี้ (มาตรา 11) ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ ธนาคารแบกความเสี่ยง 30-40% ธนาคารจึงเสนอเงินกู้เฉพาะลูกค้าชั้นดี นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เอสเอ็มอีรายย่อยเข้าไม่ถึงเงินกู้ตามข้อมูลของนายอิสระ

เป็นใครก็กู้ แต่กู้แล้วไม่เอาใช้หมุนเวียน จ้างงาน แต่เอาไปซื้อพันธบัตรได้ดอกเบี้ย 3% ทำกำไร หรือปล่อยกู้นอกระบบให้เอสเอ็มอีเล็กๆ ที่เข้าไม่ถึง ฟันกำไร 20-50%

“นายกฯ รมว.คลัง และธปท. ควรให้คนตัวเล็กที่ฟุบอยู่ได้ฟื้น รัฐบาลจะได้พ้นข้อครหาอุ้มคนรวยอวยเศรษฐี”

อย่างที่บอกไว้ว่าข้อกล่าวหาที่ถูกยิบยกอภิปรายถือเป็นเรื่อง “ร้ายแรง”

จน ผู้ว่า ธปท. ต้องลุกแจงรายประเด็น โดยรับปากว่าหากพบคนได้เงินกู้แล้วปล่อยกู้ต่ออย่างที่ ส.ส.อภิปราย ขอให้แจ้งข้อมูลว่ายัง ธปท. ซึ่งตนจะเร่งสั่งสอบสวน และจะมีมาตรการลงโทษสถาบันการเงิน สามารถเรียกคืนเงินกู้ได้ ถือว่าผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

หากมีข้อมูลให้แจ้งต่อ ธปท. ผมจะรีบดำเนินการสอบสวน และหากพบความผิด จะมีการลงโทษสถาบันการเงิน และสามารถเรียกคืนเงินกู้ได้

ผู้ว่า ธปท. ยังเปิดข้อมูลการดำเนินการ “ปล่อยกู้” มีเอสเอ็มอีที่มีทุน 500 ล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านรายได้อานิสงส์ ไม่เฉพาะลูกค้าธนาคาร วิสาหกิจชุมชน และประชาชนที่กู้ในนามผู้ประกอบการ

ส่วน “วงเงิน” ที่ปล่อยให้สถาบันการเงินไปแล้วนั้น รวม 5.8 หมื่นล้านบาท โดย ธปท.ไม่คาดหวังว่าจะปล่อยซอฟท์โลนหมดวงเงิน

ปล่อย “ซอฟท์โลน” ต้องตามตรวจ

การปล่อยซอฟท์โลนผ่านสถาบันการเงิน โดยหวังส่ง “เงินกู้” สู่มือเอสเอ็มอี ส่อกลิ่นมีปัญหาตั้งแต่ต้น เมื่อมีเสียงโอดครวญจากบรรดาเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อยที่มีอุปสรรค “เข้าไม่ถึง” เงินกู้ก้อนนี้

ส่วนที่เข้าเงื่อนไขกู้ได้ก็ต้องแลกด้วยการถูก “โขก” ดอกเบี้ย

และจะมี “รายใหญ่” กู้ไปเพื่อปล่อยกู้ต่อ-เก็งกำไรในตลาดทุน จริงหรือไม่ ยังจับไม่ได้-สาวไม่ถึง

ทบทวนเกณฑ์ปล่อยซอฟท์โลอย่างย่นย่อ

1.ยอดสินเชื่อ ไม่เกิน 100 ล้านบาท พักหนี้เงินต้น ดอกเบี้ยอัตนาโนมัติ 6 เดือน คิดดอกตลอดเวลาพักหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดชำระหนี้ ไม่เสียเครดิบูโร

2.ยอดสินเชื่อ ไม่เกิน 500 ล้านบาท กู้ไม่เกิน 20% นาน 2 ปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือน ไม่เกิน 50 ล้านบาท รัฐชดเชย 60% และถ้าเกิน 50 ล้านบาท รัฐชดเชย 70%

เริ่มที่กรณีนี้ เอสเอ็มอี ร้องเรียนมีการ “โขก” ดอกเบี้ยเกิน 2% ไม่ว่าจะเป็นการบวกค่าธรรมเนียม หรือ “ขายพ่วง” กับเงื่อนไขอื่น ผู้ที่จะยืนยันเรื่องนี้คือวงการที่มีเอสเอ็มอีเดือดร้อน

การันตีโดยข้อมูลบางส่วนจากองค์กรตัวแทนผู้ประกอบการ เช่น (3 พ.ค.2563) นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เผยมีสมาชิกแจ้งว่าธนาคารไม่ได้คิดดอกแค่ 2% แต่ยังบวกค่าธรรมเนียม แต่ละแห่งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมไม่เหมือนกัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และ น.ส.โชนรังสี เลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอี ให้ข้อมูลผ่านสื่อ ไม่ยืนยันเรื่องการโขกดอกเบี้ย แต่การเข้าถึงซอฟท์โลนของเอสเอ็มอีรายย่อย มีปัญหาเรียกว่า “เข้าไม่ถึง” เพราะธนาคารเลือกปล่อยเอสเอ็มอีรายใหญ่ที่มีเครดิตดีและมั่นใจเท่านั้น

แม้ ผู้ว่า ธปท. จะส่งเสียงเตือน! ตั้งแต่ก่อนการชี้แจงสภาฯ ขู่ริบซอฟท์โลนคืน สำหรับธนาคารที่บวกดอกเบี้ย แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องรอดูว่าจะทำได้จริงหรือไม่ 

ท้ายสุดการตั้งข้อสังเกตกับ “ซอฟท์โลน” ของ ธปท. รอบนี้ ขอยืมเสียงอดีต ส.ส.ขั้วรัฐบาล ที่พ้นจาก ส.ส.ไปแล้ว เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้ ธปท.และ ก.คลัง ตระหนักถึง “ช่องโหว่” ของซอฟท์โลนก้อนนี้

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ไว้ตั้งแต่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาเอสเอ็มอี โดยใส่ #เข้าไม่ถึงเงินกู้

สาระสำคัญ คือการบอกว่า มีเอสเอ็มอีอีกมากส่อล้ม แต่ซอฟท์โลนที่ปล่อยมาไม่เคยถึงมือกลุ่มนี้ เมื่อถามธนาคารก็อ้างว่าปล่อยกู้ให้ “ผู้กู้เดิม” หมดแล้ว คนที่ไม่เคยกู้ไม่มีชื่อ

“อ้าว แสดงว่าเขากลัวแต่เอสเอ็มอีที่กู้ไปแล้วล้มเหรอ แล้วพวกที่เขาเพิ่งมาเดือดร้อนตอนโควิดล่ะทำยังไง ถ้าเอสเอ็มอีเขาอยู่ได้ เขาก็ไม่ไล่พนักงานออก ซึ่งแบ่งเบารัฐบาลได้เยอะ”

นายกรณ์ ยังส่งคำถามถึงสภาฯ (ล่วงหน้า) คำถาม 1.ปล่อยกู้เท่าไหร่ 2.ปล่อยให้ใคร กี่ราย 3.มีค่าธรรมเนียมหรือไม่ และ 4. ธปท.และ ก.คลัง มีการตรวจสอบถึงกลุ่มเป้าหมาย

วันนี้คำถามที่นายกรณ์ตั้งไว้มีคำตอบบางแล้ว จะเหลือก็แต่ “กลไก” ที่อาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นตามข้อความที่นายกรณ์ทิ้งท้าย

อย่าเพียงแค่ออกมาตรการมาลอยๆ ครับ ต้องตามจี้ตามจิก ลงไปคลุกเพื่อให้มีผลตามที่ควรจะเป็น

ตัวชี้วัดที่จะสะท้อนผลลัพท์ได้ดี คือเสียงจากเอสเอ็มอี และจะการปฏิบัติตัวชี้วัด เสียงของผู้ขอใช้บริการอย่าง “ผู้ประกอบการ”

และถ้าจะให้ดีก็ควรมีกลไกภาครัฐตามจี้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง