จับ "หญิงตั้งครรภ์ -แม่ลูกอ่อน" ตั้งวงเสพยา จ.สงขลา

ภูมิภาค
7 มิ.ย. 63
10:24
2,152
Logo Thai PBS
จับ "หญิงตั้งครรภ์ -แม่ลูกอ่อน" ตั้งวงเสพยา จ.สงขลา
ฝ่ายปกครอง จ.สงขลา บุกค้นบ้านต้องสงสัย พบหญิงวัยรุ่นตั้งวงเสพยาบ้าและยาไอซ์โดยมีหญิงตั้งครรภ์และแม่ลูกอ่อนร่วมเสพยาอยู่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายปกครอง อ.เทพา จ.สงขลา สนธิกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเช่าหลังหนึ่งในพื้นที่หมู่ 1 ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา หลังมีรายงานว่า มีการมั่วสุมเสพยาเสพติดและขายยาเสพติดทั้งยาบ้า ยาไอซ์ ให้กับวัยรุ่นในชุมชน ขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นพบกลุ่มหญิงสาว 4 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 23 - 26 ปี นั่งล้อมวงเสพยาบ้าและยาไอซ์นอกจากนี้ยังมีเยาวชนชายอีก 1 คน ร่วมวงด้วย

ทั้งนี้ หญิง 2 ใน 4 คน คนแรกเป็นหญิงอายุ 24 ปี ตั้งครรภ์ 8 เดือน กำลังนั่งเสพยาบ้าและยาไอซ์ แม้เจ้าหน้าที่จะบุกเข้าไปก็ไม่ยอมหยุดเสพ ส่วนสามีของเธออยู่ระหว่างถูกจำคุกในคดียาเสพติด 1 ปี ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นหญิงอายุ 26 ปี เป็นแม่ลูกอ่อนคลอดลูกได้ 5 เดือน โดยอุ้มลูกอยู่บนตักพร้อมกับเสพยาบ้าและยาไอซ์ไปด้วย สืบทราบประวัติพบว่า สามีเพิ่งจะติดคุกคดียาเสพติดได้ 9 เดือน ทั้งนี้เธอบอกว่าเสพยามาตั้งแต่ตั้งครรภ์ กระทั่งคลอดลูกก็ยังเสพยาเสพติดต่อเนื่อง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้งหมดส่ง สภ.เทพา ดำเนินคดี

พญ.สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบกรณีหญิงตั้งครรภ์เสพยาเสพติดโดยระบุว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เสพยาเสพติดสารที่อยู่ในยาเสพติดจะส่งผลต่อลูกในครรภ์โดยตรงกระทบ ดังนี้ 1.ส่งผลให้มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย 2.เกิดความผิดปกติของหัวใจ 3.เกิดภาวะเลือดออกในสมองสภาวะสมองตาย เพราะยาเสพติดจะไปทำลายเซลประสาทขนาดเล็ก 4.ส่งผลต่อเนื่องถึงสมาธิ ความจำมิติสัมพันธ์ และทำให้ลูกมีปัญหาพฤติกรรมในระยะยาว 5.กรณีแม่เสพยาเสพติดอาจมีผลเร็วกว่านั้นคือการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด

ด้านฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีแม่ 2 คนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีความเป็นไปได้ที่อยู่ในสภาวะขาดที่พึ่งพิง หมายความว่าหากมี ผู้ใหญ่หรือบุคคลที่พึ่งพิงได้อาจจะไม่ต้องพึ่งยาเสพติด รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากแม่ทั้ง 2 คน ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังและสามีของทั้งคู่ติดคุก อาจมีความเครียดด้านเศรษฐกิจ เพราะสามีติดคุก นอกจากนี้ยังไม่ทราบประวัติ ข้อมูลพื้นฐานเช่น ความสัมพันธ์ครอบครัว และสังคม ฯลฯ ที่ทั้งคู่เคยประสบก่อนหน้านี้

ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวยังเสนอว่า ควรแก้ไขเชิงโครงสร้าง เนื่องจากประเทศไทยยังขาดกลไกเชิงป้องกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ต้องแก้ไขโดยเมื่อพบว่า ครอบครัวดังกล่าวเป็นกลุ่มเสี่ยงพ่อแม่ มีอาชีพไม่สุจริต (ค้ายาเสพติด) ควรเข้าไปช่วยเหลือก่อนเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง