สธ.เผายาเสพติดของกลาง 25 ตัน มูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้าน

สังคม
26 มิ.ย. 63
17:05
3,294
Logo Thai PBS
สธ.เผายาเสพติดของกลาง 25 ตัน มูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้าน
กระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง จำนวน 25,301 กิโลกรัม รวมกว่า 55,941 ล้านบาท

วันนี้ (26 มิ.ย.63) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 50 ประจำปี 2563 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมียาเสพติดให้โทษของกลางจากคลังเก็บรักษายาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เผาทำลายจำนวน 25,301 กิโลกรัมจาก 2,751 คดี มูลค่ากว่า 55,941 ล้านบาท ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีน/ แอมเฟตามีน (ยาบ้า) น้ำหนักกว่า 18,303 กิโลกรัม (ประมาณ 203 ล้านเม็ด) มูลค่าประมาณ 40,674 ล้านบาท เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) น้ำหนักกว่า 5,878 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 12,932 ล้านบาท เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 541 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2,301 ล้านบาท และยังมี MDMA/MDA/MDE (ยาอี/ยาเลิฟ) น้ำหนักประมาณ 0.026 กิโลกรัม (107 เม็ด) ฝิ่นน้ำหนักกว่า 9 กิโลกรัม โคคาอีนน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม ยาเสพติดอื่นๆ น้ำหนักรวมกว่า 557 กิโลกรัม



นอกจากนี้ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมเผาวัตถุออกฤทธิ์ของกลาง จำนวนกว่า 1,187 กิโลกรัมจาก 724 คดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 จ.ปทุมธานี และกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ร่วมเผาทำลาย ภาชนะ หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานยาเสพติดรวม 15 กล่อง

 

 

ของกลางทั้งหมดจะถูกเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชัน (Pyrolytic Incineration) ที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในปีนี้ได้กำหนดวันเผาทำลายยาเสพติดให้โทษ 3 วัน คือวันที่ 26 มิ.ย.2563 จำนวนกว่า 8,466 กิโลกรัม วันที่ 13 ก.ค.2563 จำนวนกว่า 8,275 กิโลกรัม และวันที่ 14 ก.ค.2563 จำนวนกว่า 8,558 กิโลกรัม สถิติการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางตั้งแต่ปี 2520-2563 รวม 50 ครั้ง มีน้ำหนักรวมกว่า 170,545 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 273,331 ล้านบาท มากที่สุดได้แก่ เมทแอมเฟตามีน/ แอมเฟตามีน ฝิ่นและอื่นๆ เฮโรอีน และเอ็คซ์ตาซี่ ตามลำดับ

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่หลักบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ป้องกันไม่ให้กลับมาเสพซ้ำ ซึ่งปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้านำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัด 210,982 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ 113,382 คน บังคับบำบัด 56,600 คน ต้องโทษ 26,000 คน และระบบคุมความประพฤติ 15,000 คน สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 - 15 มิ.ย.2563 นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ แล้ว 128,520 คน คิดเป็นร้อยละ 60.92 จากระบบสมัครใจ 48,479 คน ระบบบังคับบำบัด 66,253 คน และระบบต้องโทษ 13,788 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง