THE EXIT : เจาะธุรกิจหาดบางแสน ตอนที่ 2

สังคม
5 ก.ค. 63
17:48
1,433
Logo Thai PBS
THE EXIT : เจาะธุรกิจหาดบางแสน ตอนที่ 2
หาดบางแสนคุมเข้มธุรกิจท่องเที่ยว เกือบ 2,000 ราย แก้ไขช่องโหว่การโอนสิทธิ์ เทศบาลเมืองแสนสุข ย้ำไม่ต่อใบอนุญาต หากผิดเงื่อนไข

ครบ 1 เดือนเต็มกับการเปิดชายหาดในมุมมองนักท่องเที่ยวแล้ว ย่อมคาดหวังกับการเที่ยวทะเลเพื่อพักผ่อน ส่วนผู้ประกอบการ ทุกกิจกรรมของนักท่องเที่ยว ย่อมหมายถึงรายได้ นับตั้งแต่วินาทีแรกที่นักท่องเที่ยวก้าวเท้ามาถึงชายหาด เป็นภาพสะท้อนความนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนบางแสนกันอีกครั้ง หลังจากปิดชายหาดนานเกือบ 3 เดือนเต็ม เพื่อลดความเสี่ยงช่วงสถานการณ์ COVID-19

จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของบางแสน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปีมีนักท่องเที่ยวเกือบ 3,000,000 คน รายได้รวมทะลุ 10,000 ล้านบาท

 

ทุกกิจกรรมที่ชาดหาดบางแสนล้วนผูกโยงกับกิจกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการเริ่มตั้งแต่บนบก พื้นที่ชายหาด และในทะเล ทั้งกลุ่มให้เช่าเรือ เช่าห่วงยาง เก้าอี้ชายหาด นวดแผนไทย ร้านค้าริมทางเดิน กลุ่มล้อเลื่อนรถเข็น แผงลอยขายอาหารชายหาด แผงลอยเสื้อผ้า กลุ่มขายอาหารแหลมแท่น และสุดท้ายกลุ่มเดินเร่ 

ทุกกลุ่มมีผู้ประกอบการรวมเกือบ 2,000 ราย ทำให้เทศบาลเมืองแสนสุขต้องจัดระเบียบ ออกใบอนุญาตทำสัญญาแบบปีต่อปี

 

 

ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข

ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข

ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข

นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าวว่า ผู้ประกอบการชายหาดบางแสนทุกคนที่ได้รับใบอนุญาตจากเทศบาลเมืองแสนสุขจะต้องเป็นคนที่มีภูมิลำเนาในเขตเทศบาลเมืองแสนสุขเท่านั้น อย่างน้อยต้องเป็นคนชลบุรี และขณะนี้ไม่ได้มีการออกใบอนุญาตใหม่มามากกว่า 10 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่อนุญาตออกใบอนุญาตใหม่ให้กับบุคคลภายนอกเขตแสนสุขเลย

 

เมื่อ ทำเลทอง เป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการการเจรจาขอเซ้งสิทธิ์จึงเกิดต่อเนื่อง ใบเสร็จระบุจำนวนเงิน 100,000 บาท และ 150,000 บาทหลายใบ เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ ที่เทศบาลเมืองแสนสุขออกให้กับผู้ค้าประเภทขายอาหารที่ต้องการโอนสิทธิ์เปลี่ยนมือในอดีต

 

 

แม้กิจการให้เช่าห่วงยางใช้พื้นที่ไม่กว้างนักและไม่ใช่ทำเลนิยม แต่ องอาจ สมประสงค์ ผู้ประกอบกิจการให้เช่าห่วงยาง ต้องเสียค่าเซ้งสิทธิ์กว่า 100,000 บาท ให้เจ้าของเดิมทุกวันนี้เขาให้นักท่องเที่ยวเช่าห่วงละ 10-60 บาท ตามขนาดเล่นได้ทั้งวัน

"เคยคิดอยากทำกิจการเตียงผ้าใบ แต่สู้ราคาเซ้งสิทธิ์ไม่ไหว เซ้งแพงมากเป็นหลักล้าน เคยไปสอบถามตั้งแต่ราคาล้านกว่าตอนนี้ราคาขึ้นมาประมาณ 3-4 ล้านบาทแล้ว " 

 

กิจการให้เช่าห่วงยาง มีผู้ประกอบการ 295 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มทุกประเภทกิจการชายหาด รองจากร้านค้า ที่มีมากที่สุดเกือบ 500 ร้าน

 

ขณะที่รถสามล้อพ่วงข้างคันนี้อยู่เป็นล็อคสุดท้ายที่ได้ใบอนุญาตจากเทศบาลฯประเภทขายไก่ย่างจากจำนวนผู้ได้รับอนุญาต 108 ราย ที่กระจายกันไปถนนเลียบชายหาดบางแสน 6 กิโลเมตร เพราะสู้ราคาเซ้งย่านทำเลทองไม่ไหว วชิราพร แสงสาคร ผู้ประกอบการล้อเลื่อนไก่ย่างจึงตัดสินใจมาอยู่ท้ายหาดเมื่อ 8 ปี ก่อน

 

สำหรับผู้ประกอบการเรือแล้วพวกเขาอาศัยการแบ่งพื้นที่กันเองจากแนวบนบก ตั้งแต่ลานจอดรถและแนวล็อคเตียงผ้าใบลูกค้าใช้บริการ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรายได้จากส่วนอื่น


มูลค่าการเซ้งกันของผู้ประกอบการเป็นช่องว่าง ที่เทศบาลฯ พยายามแก้ปัญหา และมีนโยบายชัดเจน นับจากนี้จะไม่ต่อใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ ที่ต้องการเปลี่ยนมือยกเว้นการโอนสิทธิ์ให้คนในครอบครัว

อนาคตยังนับเป็นโจทย์ท้าทายต่อการบริหารจัดการขององค์กรปกครองท้องถิ่น ท่ามกลางมูลค่าทางการท่องเที่ยว และผลประโยชน์ของทุกกลุ่มประกอบการที่ผันแปรได้ทุกขณะกับแผนโรดแมปที่เทศบาลฯหวังให้ "บางแสน" คงความมีเสน่ห์แบบท้องถิ่น การบริการที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ยั่งยืน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : เจาะธุรกิจหาดบางแสน ตอนที่ 1

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง