"ชาวจะนะ" จี้เลิกมติ ครม.นิคมฯ จวก ศอ.บต.ทำชุมชนแตกแยก

สังคม
17 ก.ค. 63
12:23
1,402
Logo Thai PBS
"ชาวจะนะ" จี้เลิกมติ ครม.นิคมฯ จวก ศอ.บต.ทำชุมชนแตกแยก
เครือข่ายชาวจะนะยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกฯ ขอยกเลิกมติ ครม. 2 ฉบับ ที่ให้เดินหน้านิคมอุตสาหกรรม ระบุทำผิดกฎหมาย ไม่ศึกษาผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม-ชุมชน ไม่ทำประชาพิจารณ์และละเมิดสิทธิฯ แถม ศอ.บต.ยังสร้างความแตกแยกให้ชุมชนเป็นตัวแทนกลุ่มทุน

วันนี้ (17 ก.ค.2563) เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชน 146 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ยกเลิกมติ ครม.และหยุดใช้อำนาจพิเศษของ ศอ.บต. ขับเคลื่อนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่กำลังทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุว่า

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 อันถือเป็นการอนุมัติหลักการในการดำเนินโครงการ และอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการนี้ 18,000 กว่าล้านบาท บนพื้นที่ทั้งหมด 16,700 ไร่ ในพื้นที่ 3 ตำบล อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาพบข้อสังเกตที่มีความผิดปกติหลายประการ ได้แก่

อนุมัติ 18,000 ล้าน ไม่ทำประชาพิจารณ์- EHIA

1.โครงการนี้ได้ใช้อำนาจของรัฐบาล และ ศอ.บต. ดำเนินการอย่างรวบรัดขั้นตอน โดยการอนุมัติโครงการพร้อมอนุมัติงบประมาณเบื้องต้น 18,000 กว่าล้านบาท ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการจัดการศึกษาโครงการ ดำเนินการศึกษาผลกระทบ และจัดรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อนการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งถือว่า ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งยังสร้างความสับสนให้กับประชาชนในพื้นที่ว่า โครงการนี้ถูกอนุมัติไปแล้วไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้

ศอ.บต.จัดเวทีชี้แจงแต่ข้อดี ไม่ได้รับฟังชุมชน

2.ภายหลังที่ได้มีการอนุมัติโครงการโดยครม.แล้ว ได้มีความพยายามจัดให้มีเวทีชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็น โดยมีการอ้างว่า ศอ.บต. และหน่วยงานได้มีความพยายามจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ แต่กลับเป็นเพียงการจัดเวทีเพื่อเป็นการชี้แจงโครงการถึงผลดีของโครงการ มิได้มีการพูดถึงผลกระทบของโครงการแต่อย่างใด

และยังมีการอ้างว่า โครงการนี้เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ โดยในแต่ละเวทีผู้ที่สามารถเข้าร่วมเวทีได้นั้นเป็นเพียงผู้นำท้องถิ่นหรือประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกให้มาเข้าประชุมเท่านั้น แต่กลับปิดกั้นกลุ่มคนที่เห็นต่างในการแสดงความคิดเห็นหรือในการเข้าร่วม

ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวสงขลา-จะนะ

รวมถึงการจัดเวทีเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2563 ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ที่ผ่านมา ที่มีการใช้กองกำลังตำรวจและฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ กว่าหนึ่งพันนาย ปิดล้อมบริเวณเวทีดังกล่าว จนทำให้ประชาชนใน อ.จะนะ ที่ต้องการเข้าร่วมเวที ไม่สามารถเข้าถึงได้หรือเข้าถึงไม่ได้โดยง่าย

ทั้งๆ ที่โครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ อันจะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้างทั้งจังหวัด แต่กลับไม่ได้เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนชาวจังหวัดสงขลา ทั้งหมด ได้เข้ามีส่วนร่วม โดยจำกัดไว้เฉพาะพื้นที่ 3 ตำบลเท่านั้น และคนใน 3 ตำบลนี้ก็ยังกีดกันผู้ที่เห็นต่างไม่ให้เข้าร่วมเวทีอีกด้วย

ศอ.บต.ใช้อำนาจรัฐ เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

3.เป็นที่เห็นได้ชัดว่า ผู้จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ คือ กลุ่มทุนเพียง 2 บริษัท แต่กลับมีการกำหนดให้ ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ที่อาศัยอำนาจการบริหารราชการและความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในมือ เป็นกลไกขับเคลื่อนด้วยวิธีการพิเศษ ที่ไม่สนใจขั้นตอนตามกฎหมายปกติ เพื่อจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้

แม้ ศอ.บต. จะอ้างว่าดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการใช้อำนาจในเรื่องนี้

ซึ่งมองได้ว่า ศอ.บต. อาจจะกำลังดำเนินโครงการนี้ เกินอำนาจหน้าที่ของตนเอง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มจนเกินงาม โดยการเอาความเจริญด้านเศรษฐกิจของคนจะนะและของประเทศมาเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาข้อเท็จจริงต่อเรื่องนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น และเป็นการส่งเสริมกลุ่มทุนเป็นการเฉพาะที่ไม่น่าจะถูกต้อง

รัฐเลี่ยงไม่ทำ EHIA-SEA ทั้งที่กระทบทั้ง สวล.-ชุมชน

4.การดำเนินโครงการนี้ของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานของ ศอ.บต. มีการกำหนดรายละเอียดโครงการและพื้นที่ตั้งของโครงการมาแล้ว โดยกำหนดให้เป็นกิจกรรมและโครงการขนาดใหญ่ ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งเข้าข่ายเป็นโครงการรัฐที่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวดหน้าที่ของรัฐ มาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน หรือการจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA

ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาต เพราะโครงการนี้จะมีผลกระทบอย่างยิ่งทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง

ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดทำการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบและประโยชน์ที่จะได้รับในวงกว้าง ก่อนที่จะมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่ไม่ปรากฏว่า ได้มีการดำเนินการใดๆ ในการศึกษาผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการทำ EIA หรือ EHIA หรือ SEA และไม่ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายนี้ ก่อนที่จะอนุมัติโครงการ แต่อย่างใด

ชี้ ศอ.บต.ละเมิดกฎหมายผังเมือง ที่ชุมชนร่วมกันทำ

5.การดำเนินโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการกำหนดทิศทางการพัฒนา และการมีส่วนร่วมของประชาชนกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบของกฎหมายผังเมือง ซึ่งประชาชนชาวจ.สงขลาได้ร่วมกันจัดทำผังเมืองรวมสงขลาไว้ก่อนแล้ว

โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี อันเป็นการใช้สิทธิที่ประชาชนได้เข้าไปร่วมกับรัฐ ในการกำหนดการพัฒนาเชิงพื้นที่ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่โครงการนี้โดย ศอ.บต.กลับจะมาละเมิดกฎหมายผังเมือง ด้วยการดำเนินการที่จะเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดผังเมืองเพื่อให้เกิดโครงการนี้ได้

ระบุโครงการนี้จะส่งผลกระทบรุนแรง

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และภาคีองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน 99 องค์กร เห็นว่า โครงการนี้จะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในอนาคต และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดในพื้นที่อำเภอจะนะ และอำเภอใกล้เคียงอย่างหนัก

อันรวมถึงผลกระทบของสภาพอากาศจากมลพิษโรงงานจำนวนมาก และน้ำเสียที่จะปล่อยลงสู่ทะเล ที่จะทำลายระบบนิเวศโดยรวมของทะเลจังหวัดสงขลา อันเป็นแหล่งสัตว์น้ำทะเลที่สำคัญของประเทศ

และจะนำมาซึ่งความยากลำบาก ในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบลที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่โครงการ รวมตลอดทั้งตำบลใกล้เคียง ของอ.จะนะ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ศอ.บต.ไม่ใช่ผู้ประกอบการ มาอ้างความรับผิดชอบ

แม้ ศอ.บต. จะพยายามอ้างว่า เขตอุตสาหกรรมแห่งนี้จะมีความก้าวหน้ากว่าทุกแห่ง แต่กากขยะพิษ อากาศพิษ และน้ำเสียเหล่านั้น โครงการจะบริหารจัดการแบบก้าวหน้าแห่งอนาคตได้อย่างไร และจะเคลื่อนย้ายสิ่งเหล่านี้ไปทิ้งไว้ที่ไหน

ที่สุดแล้ว รัฐบาล ศอ.บต. ก็จะไม่ใช่ผู้ประกอบการหลักในเขตอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งแม้จะมีการกำหนดเงื่อนไข ข้อตกลง หรือสนธิสัญญาใดๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ ว่า สิ่งเหล่านั้นจะถูกยอมรับและปฏิบัติตามในอนาคตโดยกลุ่มทุนดังกล่าว

เพราะทั้งรัฐบาล และ ศอ.บต. ก็อาจจะถูกยุบเลิกหายไป แต่ประชาชนในพื้นที่จะต้องอยู่กับเขตอุตสาหกรรมแห่งนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน

เริ่มมา 1 ปี สร้างแต่ความแตกแยกให้ชุมชน

การดำเนินงานในโครงการนี้ของ ศอ.บต. ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลของอนุมัติโครงการ ได้สร้างความขัดแย้งและแตกแยกของคนในพื้นที่ 3 ตำบล อย่างหนัก และกำลังลุกลามไปทั้ง อ.จะนะ

ขณะนี้ไม่ได้มีเพียงคนที่เห็นด้วย กับคนที่คัดค้านโครงการนี้เท่านั้น แต่กำลังมีคนอีกกลุ่มที่ใหญ่กว่า ซึ่งรวมตัวกัน เพื่อต่อรองผลประโยชน์จากการเกิดขึ้นของเขตอุตสาหกรรมแห่งนี้

ปรากฏการณ์ของความอลหม่านในวันที่ 11 ก.ค.2563 ที่ ศอ.บต.อ้างว่า เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน 3 ตำบล นั้น บ้างก็เข้าใจว่า เป็นเวทีประชาพิจารณ์เพื่อขอมติเห็นชอบจากประชาชน บ้างก็เข้าใจว่า เป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อต้องการรายชื่อประชาชนไปแนบ ในการขอเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวให้เป็นสีม่วง อันเป็นขั้นตอนที่ต้องทำให้สำเร็จของ ศอ.บต.

3 เวที วันที่ 11 ก.ค.สร้างความสับสนให้สังคม

จึงทำให้วันดังกล่าวมีเวทีเกิดขึ้นถึง 3 เวที คือ เวทีของ ศอ.บต. ที่จัดขึ้นเองที่โรงเรียนจะนะวิทยา เวทีของกลุ่มประชาชนซึ่งจัดขึ้นที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน และเวทีของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่จัดขึ้นในตลาดอ.จะนะ ซึ่งมีการอ้างว่า เวทีที่ อบต.ตลิ่งชัน มีการรับรองพร้อมจัดสรรงบสนับสนุนโดย ศอ.บต.ด้วย

จึงยังความสับสนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก รวมถึงสื่อมวลชนและสาธารณชน ที่ติดตามเรื่องราวในวันดังกล่าว

กลายเป็นคำถามว่า สาระสำคัญที่แท้จริงของการจัดเวทีเหล่านั้น ศอ.บต. ต้องการอะไร และอยู่ในขั้นตอนใดของโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว ของศูนย์อำนาจการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ครั้งนี้ กำลังสร้างความสับสนให้กับสังคม และยังนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนใน อ.จะนะ เพิ่มมากขึ้น อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ชี้เป็นโครงการที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเครือข่ายภาคีภาคประชาชน เห็นว่า การดำเนินโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” น่าจะเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนและกระบวนการภายในและกฎหมาย ดังนี้

1.การดำเนินโครงการไม่ได้ดำเนินการภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 58 เนื่องจากได้มีการอนุมัติโครงการ ก่อนที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่มีการจัดทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนก่อนตามที่กฎหมายกำหนดไว้

2.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ ศอ.บต.อ้างถึง ว่าได้ดำเนินการมาแล้วหลายสิบเวที ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงเวทีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 และไม่มีความชัดเจนว่า ศอ.บต.ได้ดำเนินกระบวนการเหล่านั้น ให้อยู่ในส่วนไหน ของขั้นตอนการดำเนินโครงการ

ศอ.บต.ทำผิดระเบียบปฏิบัติ-ยัดเยียดโครงการ

3.แม้ ศอ.บต. จะอ้างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ตามมาตรา 9 และ 10 ถึงอำนาจหน้าที่ในการดำเนินโครงการนี้ หากแต่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ ศอ.บต. จัดทำระเบียบเพื่อการปฏิบัติในโครงการนั้นด้วย ซึ่งไม่เห็นว่า การดำเนินงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบหลักการโครงการเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 ศอ.บต.ได้ยึดระเบียบปฏิบัติใดในการดำเนินการเหล่านั้น และได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนั้นๆ ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตลอดทั้งการแก้ไขผังเมือง

4.โครงการนี้เกิดขึ้นบนฐานคิดที่ต้องการสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้น ด้วยหวังว่าการมีรายได้มากขึ้นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ จึงเป็นตรรกะเหตุผลที่ต้องตรวจสอบ และจะต้องมีการศึกษาหาข้อมูลรองรับว่า โครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่แค่ไหนอย่างไร

ในขณะเดียวกันจะมีผลกระทบในมิติต่างๆ แค่ไหน อย่างไร รวมถึงการศึกษาศักยภาพโดยรวมของอำเภอจะนะว่า ควรจะต้องพัฒนาไปในทิศทางไหน ที่มากกว่าการยัดเยียดนิคมอุตสาหกรรมให้กับประชาชนในพื้นที่เท่านั้น

ขอรัฐบาลทบทวนโครงการ-ยกเลิกมติ ครม. 2 ฉบับ

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและเครือข่ายภาคีภาคประชาชน ขอเสนอให้ท่านและรัฐบาลดำเนินการ ดังนี้

1.ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ โดยต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้ง คือ มติเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 และมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดสงขลามีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วถึง 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) และเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา

ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องสร้างมาตรการส่งเสริมสนับสนุน และเชิญชวนให้ภาคเอกชน ได้เข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งสองแห่ง ให้เต็มพื้นที่เสียก่อน อันเป็นไปตามความต้องการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ถ้าจะทำก็ควรศึกษาผลกระทบ สิ่งแวดล้อม-ชุมชนก่อน

2.หากรัฐบาลจะเดินหน้าเพื่อพัฒนาอำเภอจะนะต่อไป ต้องมีการศึกษาการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และการศึกษา EHIA ตามมาตรา 58 เพื่อเป็นข้อมูลนำมากำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่อาจจะเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงด้านเดียว และขอให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น โดยการสร้างกลไกอันเป็นที่ยอมรับ มีความหลากหลายของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ

เพื่อทำการขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และสร้างมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน โดยต้องศึกษาศักยภาพของพื้นที่ในทุกมิติเสียก่อน แล้วจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงก่อนที่จะกำหนดให้โครงการใดๆ ขึ้นในพื้นที่

ชี้รัฐกำลังทำผิดกฎหมาย – ละเมิดสิทธิชุมชน

โอกาสนี้ พวกเราขอประกาศว่า โครงการ “จะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” คือ โครงการที่รัฐและธุรกิจกำลังละเมิดแผนสิทธิมนุษยชนและแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเอง ละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชน กระทำผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และระเบียบขั้นตอนการดำเนินโครงการในกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ

หากรัฐบาลไม่ทบทวน โดยการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้ง และยังปล่อยให้ ศอ.บต.ดำเนินโครงการนี้ อย่างผิดระบบผิดระเบียบอีกต่อไป พวกเราจะดำเนินการในทางกฎหมายตามสิทธิหน้าที่อันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

พร้อมกันนี้ เราขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชน ภาคประชาสังคม และองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ได้โปรดออกมาเรียกร้องในทุกรูปแบบ เพื่อให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนดังกล่าวต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง