ธปท.ลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 2-4 มีผลวันนี้

เศรษฐกิจ
1 ส.ค. 63
13:02
2,714
Logo Thai PBS
ธปท.ลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 2-4 มีผลวันนี้
ธปท.กำชับสถาบันการเงิน ชะลอการยึดทรัพย์ ลูกหนี้ที่กลายเป็น NPLs พร้อมพิจารณามาตรการปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายบุคคล ที่ยังขาดความสามารถในการชำระหนี้ และขยายวงเงินสินเชื่อลูกหนี้้ชั้นดี ก่อนปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2-4 จากอัตราเดิม

วันนี้ (1 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระยะที่ 2 หลังจากมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป กำลังทยอยสิ้นสุดลง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2-4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ได้แก่ บัตรเครดิต ดอกเบี้ยลดลงจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 16 สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีวงเงินหมุนเวียน จากเดิมร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 25 สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่อนชำระเป็นงวด จากเดิมร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 25 และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จากร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 24

พร้อมกับเพิ่มวงเงินหมุนเวียน สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด สำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม และมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ขยายวงเงินจากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564

ธปท.กำชับชะลอยึดหนี้ที่กลายเป็น NPLs

นอกจากนี้ ธปท.ยังกำชับให้สถาบันการเงิน ช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ยังขาดความสามารถในการชำระหนี้ โดยพิจารณามาตรการเป็นรายบุคคล เช่น การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราตลาด และกรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบจนเป็น NPLs ขอให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์ และต้องจัดให้มีช่องทาง หรือกลไกแก้ไขหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้

แม้ในช่วงของมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำระยะที่ 2 ลูกหนี้จะได้รับประโยชน์จากการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ แต่ดอกเบี้ยก็ยังคงเดินอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของลูกหนี้ภายหลังมาตรการนี้สิ้นสุดลง ธปท.ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงเลื่อนกำหนดชำระหนี้เป็นเงินก้อนในคราวเดียว รวมทั้งไม่ให้เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราผิดนัด ค่าบริการ เบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติมจากลูกหนี้ และหากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ตามสัญญาภายใต้มาตรการที่ช่วยเหลือก่อนกำหนด ผู้ให้บริการทางการเงินไม่สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนดได้

KTC ให้ชำระขั้นต่ำร้อยละ 5 นาน 9 เดือน

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมดำเนินมาตรการดังกล่าว พร้อมกับคงสัดส่วนผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิมร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 ไปจนถึงเดือน เม.ย.2564 จากนั้นจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 8 ในปี 2565 และอัตราร้อยละ 10 ในปี 2566 เป็นต้นไป

ส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคล “เคทีซี พราว” ปัจจุบันได้รับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำร้อยละ 3 ซึ่งอยู่ในแนวทางการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว รวมทั้งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว การลดค่างวดร้อยละ 30 เป็นต้น โดยขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2563 กลุ่มลูกหนี้ได้เข้าร่วมเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาวภายใต้มาตรการช่วยเหลือของบริษัทฯ ประมาณกว่า 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ประมาณกว่า 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ 90 ราย

ธอส.ผุดมาตรการจูงใจลูกหนี้ชำระตามปกติ

ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.ออกมาตรการจูงใจให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป โดยนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าวว่า ธนาคารจะโอนเงินคืน หรือ Cash back จำนวน 500-1,000 บาท สำหรับลูกหนี้ 2 กลุ่ม ที่มีพฤติกรรมชำระหนี้ดี ผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL ระหว่างเดือน ก.ย. - ธ.ค.2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 และกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง