"ศาลยุติธรรม" สาธิตนวัตกรรมออนไลน์ครบวงจร

อาชญากรรม
1 ส.ค. 63
14:46
1,048
Logo Thai PBS
"ศาลยุติธรรม" สาธิตนวัตกรรมออนไลน์ครบวงจร
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นำคณะข้าราชการศาลยุติธรรม พร้อมสื่อมวลชน ชมนวัตกรรมเทคโนโลยีสนับสนุนงานศาลจังหวัดพัทยา ลดความแออัดจำนวนผู้คนสอดคล้องรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการ

วันนี้ (1 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สาธิตการใช้งานระบบออนไลน์ ครบวงจรที่ศาลจังหวัดพัทยาและศาลแขวงพัทยา เพื่อยกระดับการบริการประชาชนให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลอีกทั้งยังสามารถตอบสนองนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี เพราะธุรกรรมเอกสารสามารถจัดส่ง สื่อสารผ่านระบบออนไลน์ได้

 

 

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า นวัตกรรมช่วยสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งในช่วงก่อนฟ้อง รับฟ้อง ระหว่างพิจารณาและหลังพิพากษา ได้พัฒนาขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีสังคมปัจจุบัน โดยรวบรวมข้อมูลจาก 272 ศาลไว้ในระบบเดียวกัน เพื่อสร้างความสะดวก ลดขั้นตอนให้เกิดความรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่าย เข้าถึงข้อมูลคดีได้โดยไม่ต้องมาศาล

 

 

นายวันชัย แก้วพรหม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยา กล่าวว่า การเข้าระบบยื่นฟ้องออนไลน์ e-Filing (อี-ไฟล์ลิ่ง) โดยขณะนี้ได้พัฒนาระบบสู่ version 3 รองรับประเภทคดีได้เพิ่มเติมมากกว่าเดิม ทั้งคดีแพ่งการร้องขอจัดการมรดก ร้องขอให้เป็นบุคคลสาบสูญ คดีผู้บริโภค เป็นต้น และการยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ รวมถึงสามารถส่งคำคู่ความทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย

คู่ความทราบความเคลื่อนไหวของข้อมูลคดี

ระบบ CIOS (ซีออส) เป็น Tracking System (แทรคกิ้ง) หรือระบบการติดตามสำนวนออนไลน์ สำหรับประชาชน คู่ความ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคู่ความจะสามารถทราบความเคลื่อนไหวของข้อมูลคดีที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งยังให้บริการคู่ความเกี่ยวกับข้อมูลคดีศาลยุติธรรม อาทิ คำสั่งศาล ผลการส่งหมาย ปฏิทินนัดพิจารณา การรับรองคดีถึงที่สุด การติดตามสำนวนคดี ทนายขอแรง เป็นต้น

 

 

ขณะเดียวกัน น.ส.เสมอแข เสนเนียม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพัทยา ซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี นั้น มีการพัฒนาใช้ระบบออนไลน์ระบบ Corporate Banking การคืนเงินค่าธรรมเนียมศาล ผ่านระบบธนาคารออนไลน์ แทนระบบเดิมที่จ่ายด้วยเช็ค ซึ่งเป็นระบบสร้างความสะดวกให้คู่ความและทนายความ ช่วงรับฟ้อง ระหว่างการพิจารณา และหลังพิพากษา

 

 

แม้แต่ระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ ที่ดำเนินการได้ในหลายช่องทาง อาทิ ประชุมทางโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชัน LINE, ZOOM, Webex by Cisco ที่ผ่านมาได้ผลดำเนินการที่น่าพอใจและอยู่ระหว่างศึกษาหาวิธีตรวจสอบป้องกันการแอบอ้างตัวตนของคู่ความ เพื่อป้องกันการเสียหายทางคดี

"13,000 คดี" เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์

ระบบปฏิบัติการทั้งหมดนี้ นอกจากทันสมัยและสามารถอำนวยความสะดวกต่อผู้เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังตอบสนองมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย เนื่องจากสามารถลดจำนวนผู้คนที่เดินทางมาศาลในแต่ละวันลงไปได้มาก ปัจจุบัน มีคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์กว่า 13,000 คดี ในศาล 207 แห่งทั่วประเทศ

 

 

นอกจากการพัฒนาระบบภายใน ยังมีระบบ AWIS การเชื่อมฐานข้อมูลการออกหมายจับ และผลการจับกุมตามหมายจับ สนับสนุนงานตุลาการช่วงก่อนฟ้อง ระหว่างศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำให้มีฐานข้อมูลหมายจับที่เป็นปัจจุบันแบบเรียลไทม์ การปฏิบัติงานในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม สะดวก รวดเร็ว เกิดประโยชน์ร่วมกันยิ่งขึ้นด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง