ทางเลือก-ทางรอด “สายการบิน” ยุค COVID-19

เศรษฐกิจ
5 ส.ค. 63
12:44
15,197
Logo Thai PBS
ทางเลือก-ทางรอด “สายการบิน” ยุค COVID-19
ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญสถานการณ์ความไม่แน่นอน จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 บางประเทศพยายามจับคู่ทำ Travel Bubble บางประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนภายในประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายประเทศ กลับเกิดการระบาดระลอกใหม่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักเดินทาง

หลายคนกังวลกับการตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบิน ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจึงได้เห็นสายการบินต่างๆทั้งในไทยและต่างประเทศ พยายามงัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดให้คนหันมากใช้บริการ

 

(ราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ จองล่วงหน้าเพียง 1สัปดาห์ ซึ่งเป็นราคาที่เทียบเท่าหรืออาจถูกกว่าในช่วงก่อน COVID-19)

ด้วยครั้งหนึ่งเคยหวังว่า ฟ้าหลังฝนอาจสดใส แต่แผลที่ COVID-19 ทิ้งไว้ ทั้งการถูกเลิกจ้างงาน ลดเงินเดือน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ อาจทำให้หลายคน “ยังไม่มีอารมณ์ออกเดินทาง”

ก่อนหน้านี้ไทยพีบีเอส ได้สำรวจผู้คนกลุ่มตัวอย่างบนโลกออนไลน์ 570 คน พบว่า แม้จะมีมาตรการของรัฐฯและโปรโมชั่นสายการบินออกมาต่อเนื่อง แต่มีเพียง 33 % ของผู้ตอบแบบสำรวจที่มองว่า ช่วยกระตุ้นการเดินทางได้

แต่อีก 67 % มองว่า ยังขอประเมินสถานการณ์ต่อไปสักระยะ นี่เป็นสิ่งที่สายการบินต้องเร่งกลับมาทบทวนโปรโมชั่นและแผนการตลาดใหม่เพื่อให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น

(บรรยากาศอาคารผู้โดยสารภายในประเทศท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ช่วงเย็นวันเสาร์ ที่ในช่วงปกติมักมีผู้โดยสารหนาตา เนื่องจากมีเที่ยวบินออกเดินทางใกล้เคียงกันหลายเที่ยวบิน)

ในเมื่อสถานการณ์ยังไม่แน่นอน ก็ตั๋วเลื่อนได้

ดูเหมือนสิ่งนี้จะกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ของสายการบิน ที่นำมาใช้ในช่วงนี้ เพื่อให้ผู้โดยสารรู้สึกมีความมั่นใจกับการจองตั๋ว และอยากเดินทางมากขึ้น เพราะดังที่หลายท่านอาจทราบดีว่า ในช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 การจองตั๋วเครื่องบินโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ

หากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนเที่ยวบิน อาจมีค่าใช้จ่ายตามมา ทั้งค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน และส่วนต่างของราคาตั๋วเครื่องบิน หากคิดไปคิดมาอาจแพงกว่าการซื้อตั๋วใหม่

การให้ผู้โดยสารได้ถือตั๋ว ที่สามารถเลื่อนการเดินทางเองได้ตลอดเวลา ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงทำให้ผู้โดยสารมั่นใจมากขึ้นว่า ตั๋วในมือจะไม่ถูกทิ้งเปล่า และได้เดินทางในช่วงที่ตนเองสบายใจ

การเปิดให้นักเดินทาง ซึ่งถือตั๋วอยู่แล้ว สามารถเลื่อนเที่ยวบินได้เอง ไปจนถึงปลายปีหรือปีหน้าโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ยังอาจเป็นแนวทางลดความเสี่ยงของสายการบินในการรับผิดชอบค่าชดเชยตามกฎหมาย จากการยกเลิกเที่ยวบิน เช่น ในสหภาพยุโรปที่กำหนดค่าชดเชยไว้สูงสุดเกือบ 600 ยูโร หรือกว่า 21,000 บาท ในเที่ยวบินที่มีระยะทางมากกว่า 3,500 กิโลเมตร การจูงใจให้ผู้โดยสารเลือกถือตั๋วไว้ก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และกลับมาเดินทางได้ วิธีข้างต้นจึงอาจเป็นตัวเลือกที่สายการบินไม่ต้องเลือดไหลหนัก จากการชดเชยด้วยเม็ดเงินมหาศาล

(เคาน์เตอร์เช็คอินผู้โดยสารโซนภายในประเทศของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เริ่มมีผู้โดยสารกลับมาใช้บริการ)

ท่ามกลางความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร ก็อาจต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดและสิ่งที่สายการบินต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น จากจำนวนการติดต่อสายการบินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงการเดินทางของผู้โดยสาร ที่เข้ามาจำนวนมาก

บางสายการบินจึงพยายามพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์(AI) เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถทำรายการได้ด้วยตัวเอง ลดบทบาทของพนักงาน คอล เซ็นเตอร์ (Call Center) แต่ถึงกระนั้นก็ยังอาจได้ยินปัญหา และข้อจำกัดของการดำเนินการ

ทั้งปัญหาของตัวระบบที่ยังไม่สามารถทำรายการบางประเภทได้ หรือลักษณะของการสื่อสารที่ยังไม่เหมือนสนทนากับมนุษย์ ตอบคำถามไม่ได้ในทันที

บางสายการบินจึงยังคงใช้วิธีการให้พนักงานมารับสาย ช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร โดยพนักงานเหล่านี้ บางส่วนเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ว่างจากภาระงานเนื่องจากเที่ยวบินที่ลดลง ซึ่งในระยะยาว อาจต้องประเมินต่อไปว่า สายการบินทั่วโลกจะปรับตัวรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

แต่ถึงแม้สายการบินหลายแห่ง จะเริ่มปรับให้ตั๋วมีความยืดหยุ่นมาขึ้น แต่ก็ยังมีเสียงแย้งจากบางสายการบินในสหรัฐฯ ที่มองว่า ค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการเปลี่ยนหรือเลื่อนตั๋วเหล่านี้ จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยพยุงให้สายการบินพอเดินต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้

ตั๋วยืดหยุ่น นิวนอร์มอลหลัง COVID-19

มาตรการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินของสายการบินต่างๆ นอกจากจะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้โดยสารโดยตรง ผ่านการตัดสินใจจองตั๋วของปัจเจกบุคคลแล้ว

ส่วนหนึ่งยังทำให้เกิดความรู้สึก และการรับรู้ของคนสังคมในวงกว้าง เนื่องจากระยะหลังจะเริ่มพบเห็นตามหน้าเพจ ในสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวชื่อดัง เริ่มจัดอันดับการรับมือกับ COVID-19 ของแต่ละสายการบิน โดยมีเกณฑ์ให้คะแนนที่เพิ่มเข้ามา เป็นเรื่องของความยืดหยุ่นของตั๋วเครื่องบิน ทั้งจำนวนครั้งที่ให้เลื่อน กรอบระยะเวลา ขั้นตอนการเลื่อนตั๋ว ซึ่งในระยะยาว

หากสายการบินที่ได้รับการจัดอันดับที่ดี ก็ย่อมส่งผลบวกต่อการตัดสินใจของนักเดินทางด้วยเช่นกัน

จากการปรับเปลี่ยนมาตรการจำหน่ายตั๋วของสายการบินที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ล่าสุดยังส่งผลให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ จองตั๋วเครื่องบินหลายราย ต้องเริ่มปรับตัวด้วยเช่นกัน บางแห่งออกมาประเมินว่า สายการบินต่างๆ จะใช้มาตรการแบบนี้ไปอีกสักระยะ อย่างน้อยๆ ก็จนถึงสิ้นปีนี้ หรืออาจยาวไปจนถึงปีหน้าตลอดทั้งปี

จากเหตุนี้เอง ทำให้เว็บไซต์รับจองตั๋วเครื่องบินต้องปรับตัว ให้สอดรับกับการเพิ่มตัวกรอง สำหรับเที่ยวบินที่สามารถเปลี่ยนตั๋ว หรือเลื่อนการเดินทางได้ เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับผู้โดยสาร

นอกจากนี้ข้อเสนอในลักษณะชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัดพรีเมียม เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงเริ่มเห็นภาพของโปรโมชั่นการเสนอตั๋วเครื่องที่เน้น “จ่ายเพิ่มเพื่อความสบายใจ” มากขึ้น

ไปให้สุด..แล้วหยุดที่ “เครื่องบินส่วนตัว”

อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เมื่อพบว่าความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพิ่มขึ้นสูงมากในต่างประเทศ ด้วยความยืดหยุ่นที่สามารถกำหนดช่วงเวลาการเดินทางได้เอง

และยังสบายใจ สำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์ ที่ต้องการลดการสัมผัสกับผู้อื่นโดยไม่จำเป็นแม้ต้นทุนการเดินทางอาจสูงกว่าการเดินทางปกติกว่า 10 เท่าตัวก็ตาม

มีข้อมูลว่า หลังจากหลายประเทศในยุโรป เริ่มเปิดพรมแดน มหาเศรษฐีชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งที่ถือพาสปอตหลายประเทศ เหมาเครื่องบินส่วนตัวเพื่อไปพักร้อนรับบรรยากาศอบอุ่น ตามแถบชายทะเลตอนใต้ของยุโรป

บางส่วนเป็นการหารกันในกลุ่มเพื่อน บนเครื่องบินแบบ 13 ที่นั่ง สนนราคาอยู่ที่นั่งละประมาณ 4,000 ยูโร หรือประมาณ 147,000 บาทต่อเที่ยว

การเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว ไม่ได้นิยมเพิ่มขึ้นเฉพาะเส้นทางข้ามประเทศ หรือระยะไกลเท่านั้น แต่บริษัทให้บริการเฮลิคอปเตอร์ในรัสเซีย ก็ระบุว่า ความต้องการเดินทางระหว่างเมืองเพิ่มขึ้นถึง 30 %

สอดคล้องกับรายงานของสนามบินหลักๆ ในมอสโกหลายแห่ง ที่พบเที่ยวบินส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 400 เที่ยวบิน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 850 เที่ยวบินในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

และไม่เพียงแต่รัสเซีย เพราะมหาเศรษฐีชาวอินเดีย ก็กำลังหันมาใช้การเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเช่นกัน โดยข้อมูลจากผู้ให้บริการเครื่องบินส่วนตัวในอินเดียพบว่า ยอดจองเที่ยวบินเพิ่มขึ้นกว่า 60% และแต่ละวันต้องรับโทรศัพท์ไม่ต่ำกว่า 20 สาย

อันที่จริงเรื่องนี้ อาจไม่ต้องมองไกลถึงต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีสายการบินชื่อดังของไทย ที่เปิดให้ผู้สนใจสามารถเช่าเหมาลำ เพื่อเดินทางภายในประเทศได้แล้วเช่นกัน

หลังเครื่องบินว่างจากการบินเป็นจำนวนมาก และแม้จะยังไม่มีข้อมูลว่า ความสนใจจากผู้ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน แต่ก็สังเกตได้ว่า เริ่มเห็นความคึกคักของบริษัทให้เช่าเครื่องบินส่วนตัวเริ่มทำการตลาด โพสต์โปรโมชั่นต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น อย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นในช่วงเวลาปกติ

สนนราคาเส้นทางระหว่าง ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ ประมาณ 410,000 บาท, โฮจิมินห์ซิตี้-กรุงเทพฯ 470,000 บาท, กัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพ 635,000 บาท

ซึ่งแม้ว่าอาจดูเป็นราคาที่แพงกว่า การนั่งเครื่องบินในชั้นธุรกิจหลายเท่าตัว แต่ในภาวะเช่นนี้ที่การหาเที่ยวบินได้ยาก และยังมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศ การเดินทางแบบ “เว้นระยะห่างทางสังคม” จึงอาจเป็นอีกตัวเลือกสำหรับคนบางกลุ่ม

ปลายทางย่อมมีแสงสว่าง

สายการบินเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่มีการปรับตัว เพื่อความอยู่รอดได้อย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์ตั้งแต่ก่อน COVID-19 ที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ดังนั้นเมื่อมีสถานการณ์ COVID-19 สายการบินต่างๆ จึงพยายามหาวิธีในการกลับไปบินให้ได้เร็วที่สุด

ในขณะที่การดึงดูดให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการ ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทีมการตลาดอาจต้องพลิกตำราหากลยุทธ์ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน ทั้งการศึกษาพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค ภายใต้กฎเกณฑ์และข้อบังคับด้านสาธารณสุขที่เปลี่ยนไป

แม้วันนี้อาจเริ่มเห็นภาพว่า สายการบินพยายามปรับตัวอย่างไรบ้าง เพื่อความอยู่รอด แต่ก็ยังอาจเร็วเกินไป ที่จะบอกว่าเพียงทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น

เพราะอย่าลืมว่า ขณะนี้หลายประเทศยังไม่เปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กัน หากวันหนึ่งมีการเดินทางข้ามประเทศ ปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงการทำการตลาดเพื่ออยู่รอด ทั้งเงื่อนไขการเดินทาง และมาตรการด้านสาธารณสุข ความคุมค่าด้านการตลาด ยังมีโจทย์และความท้าทายให้ต้องเตรียมตัวกันอีกมาก

ปัจจัยทั้งหมดคือ “ความอยู่รอด” ของสายการบินในโลกนี้

 

เฌอศานต์ ศรีสัจจัง

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง