ถกนัดแรก ศบศ.ไฟเขียว 4 มาตรการเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ
19 ส.ค. 63
13:46
1,416
Logo Thai PBS
ถกนัดแรก ศบศ.ไฟเขียว 4 มาตรการเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ
ศบศ.เห็นชอบกรอบมาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการ ปรับเงื่อนไข "เราเที่ยวด้วยกัน" ดึงบริษัทมาช่วยพยุงท่องเที่ยว พร้อมมอบหมายกระทรวงคลังศึกษาสิทธิประโยชย์ภาษีบริษัทจ้างบัณฑิตจบใหม่ ปฏิเสธใช้เบรกม็อบนักศึกษา

วันนี้ (19 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า นายกฯ มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงรับผิดชอบดูแลปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งจังหวัดและให้ร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด

ขณะที่นายสมิทธิ์ พนมยงค์ ในฐานะโฆษก ศบศ. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับเกณฑ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยขยายสิทธิ์จากเดิมเฉพาะกลุ่มบุคคลธรรมดา เป็นนิติบุคคล พร้อมขยายสิทธิ์จากเดิมสูงสุด 5 คืนต่อราย เป็น 10 คืนต่อราย และให้ส่วนลดค่าโดยสารเครื่องบิน จากเดิมรายละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ทั้งนี้ การปรับมาตรการจึงมุ่งเน้นการดึงเอกชนเข้ามากระตุ้นการบริโภคเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในจังหวัดระยะไกลและการใช้สิทธิ์วันธรรมดา โดยจะเสนอ ครม.เห็นชอบสัปดาห์หน้า

ศบศ.เห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะเร่งด่วน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ยังมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์ภาษีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มเติม มาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอี มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยให้หน่วยงานกลับไปทำรายละเอียดเสนอ ศบศ.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาฯ สศช. ชี้แจงว่า มาตรการกระตุ้นการจ้างงาน ซึ่งมุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์บริษัทที่จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ไม่ใช่เพื่อเบรกม็อบนักศึกษา แต่ที่ประชุมเห็นว่ากระทรวงการคลังยังไม่มีมาตรการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว พร้อมย้ำว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นสิทธิแสดงความเห็นการเมืองได้ตามระบอบประชาธิปไตย

ส่วนนายสุพันธ์ มงคลสุธีร์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมขอความร่วมมือเอกชนเฟ้นหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ก่อนจัดงานแรงงานเอ็กซ์โปร์เปิดรับสมัครแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่าเอกชนพร้อมสนับสนุนและจะพยายามดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อเอสเอ็มอี เชื่อว่าจะคลี่คลาย หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการซอฟท์โลน พลัส ซึ่งให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อวงเงินรวมกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติ ครม.ที่ให้ บสย.ค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 ถือเป็นการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องแก้ไข พ.ร.ก. ซึ่งเพิ่งขยายเวลาถึงสิ้นปี 2563 และยังสามารถต่ออายุ พ.ร.ก.อีกรอบละ 6 เดือน ไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน สามารถสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง