กอนช.สั่งตัดยอดน้ำหลากลุ่มน้ำยม-คาดสิ้นเดือนส.ค.นี้น้ำลด

ภัยพิบัติ
26 ส.ค. 63
13:38
358
Logo Thai PBS
กอนช.สั่งตัดยอดน้ำหลากลุ่มน้ำยม-คาดสิ้นเดือนส.ค.นี้น้ำลด
กอนช.ตัดยอดน้ำหลากลุ่มน้ำยม เพิ่มจุดชะลอน้ำหลาก เก็บกักน้ำส่วนเกินไว้ใช้หน้าแล้งโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะที่ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมสุโขทัย -พิษณุโลก เหลือน้ำคงค้าง 80 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติสิ้นเดือนส.ค.นี้

วันนี้ (26 ส.ค.2563) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านว่า ขณะนี้น้ำใน จ.สุโขทัย เลยจุดสูงสุดของระดับน้ำแล้ว และจะลดลงตามลำดับ ส่วนปริมาณน้ำท่วมสูงสุดได้ไหลผ่านอ.เมือง อ.วังชิ้น จ.แพร่ และปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ระดับน้ำได้ลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งแล้วเมื่อเวลา 20.00 น.วันที่ 25 ส.ค.นี้

กอนช.ประเมินปริมาณน้ำหลาก 384 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือน้ำคงค้าง และอยู่ระหว่างเร่งระบายในพื้นที่อีก 80 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่น้ำท่วมในสุโขทัย และพิษณุโลกรวมกัน 73,481 ไร่ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติสิ้นส.ค.นี้

นายสมเกียรติ กล่าวว่า น้ำท่วมในพื้นที่สุโขทัย พิษณุโลกได้รับประโยชน์จากน้ำหลากสามารถเก็บกักไว้ในลำน้ำสายหลักและสาขาในทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นน้ำต้นทุนสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ วันที่ 1 ก.ย.นี้ ในอัตราสูงสุด 1,238 ลูกบาศก์เมตรวินาที ซึ่งลำน้ำรับได้ 3,500 ลูกบาศก์เมตรวินาที และจะไหลลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท วันที่ 2 ก.ย.นี้ ในอัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรวินาที

เปิดแผนตัดยอดน้ำ-เล็งแก้น้ำแล้ง-น้ำท่วม 

จึงให้กรมชลประทาน เร่งผันน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันตกในอัตรา 93 ลูกบาศก์เมตรวินาที และฝั่งตะวันออก ในอัตรา 62 ลูกบาศก์เมตรวินาที เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในระบบชลประทาน และใช้เป็นน้ำต้นทุนส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้วย และการผันน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ไปยังสถานีสูบน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อสูบน้ำส่งไปเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สำหรับแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งลุ่มน้ำยมทั้งระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มจุดเก็บกักน้ำ และชะลอน้ำทุกรูปแบบในพื้นที่ต้นน้ำ ที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาแหล่งน้ำตามแผนหลักลุ่มน้ำยม (ปี 2564–2580) ปัจจุบันมีแผนหลักดำเนินการ 3 ส่วนหลักคือ ยมตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง เป้าของแผนหลักลุ่มน้ำยม 20 ปี ต้องพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำตอนบน-ตอนกลาง 800 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชะลอน้ำตอนล่าง 833 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 253,630 ไร่ และลดปัญหาน้ำท่วมได้ 54,159 ไร่

อ่านข่าวเพิ่ม

กรมชลฯ ไม่เปิดทุ่งบางระกำรับน้ำสุโขทัย ผันลงคลองสาขา

รมว.มหาดไทย สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด รับมือน้ำป่า-น้ำท่วม

"ท่อนซุง-ขยะ" 200 ตันเกลื่อนประตูหาดสะพานจันทร์

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง