“วิษณุ” ชี้คดีบอส อยู่วิทยา แจ้งอินเตอร์โพลจับ-ส่งกลับไทยได้

อาชญากรรม
27 ส.ค. 63
12:20
467
Logo Thai PBS
“วิษณุ” ชี้คดีบอส อยู่วิทยา แจ้งอินเตอร์โพลจับ-ส่งกลับไทยได้
วิษณุยอมรับคดีบอส อยู่วิทยา เริ่มต้นกระบวนการใหม่ หลังถูกแจ้ง 3 ข้อหา ชี้สามารถแจ้งอินเตอร์โพล จับตัวบอสส่งกลับไทยได้ สำหรับข้อเสนอถึงนายกฯ มี 2 ส่วนคือ เรื่องคดี กับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ส่วนนายกฯ จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป ต้องรอดูต่อไป

วันนี้ (27 ส.ค.2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานอินเตอร์โพล จับกุมตัวนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส เพื่อนำตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ว่า ตนไม่รู้ว่าตำรวจส่งไปขอหรือไม่

ทราบเท่าที่สืบลงข่าวเช่นกันว่า มีการตั้งข้อหาใหม่ 3 ข้อหา ซึ่งเมื่อตั้งข้อหาใหม่แล้ว ทางกรรมาธิการของนายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการ การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ก็หยุดพิจารณาคดี เพราะถือว่ากลายเป็นคดีที่ไปอยู่ในอำนาจศาลแล้ว

ดังนั้นจึงสามารถออกหมายแจ้งไปที่อินเตอร์โพลได้ หากต้องการตัวและเชื่อว่าอยู่ต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้เหมือนกับเป็นการเริ่มต้นคดีใหม่เลยใช่หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการจัดทำรายงานฉบับใหญ่ ของคณะกรรมการชุดนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่เตรียมส่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งตามรอบ 10 วันมาสองครั้งแล้ว

โดยนายวิชาได้ขอเวลาอีก 30 วัน เพื่อทำในเรื่องของการปฏิรูป โดยที่ไม่เกี่ยวกับคดีเพราะถือว่าจบลงแล้ว

สิ่งที่นายวิชาและคณะกรรมการจะทำต่อไป จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปว่า เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนจะต้องไปแก้อะไรตรงไหน จึงได้ขอเวลาทำต่อ และเมื่อทำเสร็จแล้วก็จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม

ส่วนกรณีรายงานเล่มที่จะส่งให้นายกรัฐมนตรี เมื่อส่งแล้วก็อยู่ที่นายกรัฐมนตรีว่าจะตัดสินใจอย่างไร ทั้งนี้ ต้องดูด้วยว่า กรรมการชุดของนายวิชาได้เสนอแนะอะไรมาบ้าง

ข้อเสนอจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือข้อเสนอแนะในเชิงคดี ที่เกี่ยวกับตำรวจและอัยการ หรือบุคคลอื่น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การดำเนินคดี หรือนำไปสู่การทำคดีใหม่ ก็แล้วแต่ว่าเขาเสนออะไร

ส่วนอีกข้อเสนอแนะคือ ข้อเสนอในเชิงปฏิรูป ซึ่งตอนนี้ มีการเสนอจากที่อื่นมาส่วนหนึ่งแล้วก็จะนำมาผสมกันแล้วทำเป็นแอคชั่นคือการกระทำ โดยที่ไม่ต้องแก้กฎหมาย เช่น ไปเปลี่ยนเลย หรือต้องไปแก้กฎหมายที่เรามีอยู่ในมือแล้วกำลังจะแก้ไข เตรียมเสนอสภาอยู่แล้วก็นำไปปรับปรุงพร้อมกฏหมายนั้นเสียเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง