สั่งปิดแหล่งท่องเที่ยว "เขาใหญ่"

ภัยพิบัติ
19 ก.ย. 63
11:11
1,324
Logo Thai PBS
สั่งปิดแหล่งท่องเที่ยว "เขาใหญ่"
หน่วยงานด้านสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า และน้ำมัน เตรียมการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินจากพายุ ขณะที่กรมทางหลวงรายงานผลกระทบน้ำท่วมเส้นทางใน 4 จังหวัด ซึ่งประชาชนอาจไม่ได้รับความสะดวก และมี 2 เส้นทางในความดูแลของกรมทางหลวงชนบที่สัญจรผ่านไม่ได้

วันนี้ (19 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ในช่วงเช้าวันนี้ พบว่าสะพานวังตะไคร้ ยังมีปริมาณน้ำสูงและมีสีแดงขุ่น ฝนหยุดตกแต่ท้องฟ้ายังมืดครึ้ม ระดับน้ำยังทรงตัว ขณะที่บ้านเรือนหมู่ 4 ต.หินตั้ง อ.เมืองนครนายก ถูกน้ำท่วมสูง

ขณะเดียวกัน ได้เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกว่า 200 คน ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งใน ต.สาริกา จากถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ออกมาไม่ได้เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถบรรทุก 6 ล้อช่วยเหลือ ยกเว้นรถนักท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถนำออกมาได้

 

 

ล่าสุด ว่าที่ พ.ต.นรินทร์ ปิ่นสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทุกแห่ง และปิดด่านตรวจทางขึ้นด้าน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และด่านเนินหอม จ.ปราจีนบุรี เพื่อความปลอดภัย

น้ำป่าซัดรถนักท่องเที่ยวกลางดึก

ฝนที่ตกนานหลายชั่วโมงในพื้นที่ จ.นครนายก ส่งผลให้เมื่อคืนที่ผ่านมา เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาใหญ่ไหลหลากลงมาพื้นที่ด้านล่างหลายจุด ระดับน้ำเริ่มมีความรุนแรงและมีสีแดงขุ่น เจ้าหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านริมตลิ่งเร่งขนย้ายทรัพย์ขึ้นที่สูง แต่มีรถนักท่องเที่ยวบางคันที่ย้ายไม่ทัน ทำให้ถูกน้ำป่าซัด แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่ที่มาเฝ้าระวังสถานการณ์ เห็นและช่วยกันใช้เชือกลากรถไว้ได้ทัน

 

บ้านเรือน จ.สระแก้ว ถูกน้ำท่วม

เจ้าของร้านทำเบาะแห่งหนึ่งใน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว บันทึกคลิปภาพ ขณะน้ำกำลังไหลเข้าท่วมบ้านสูงกว่า 30 เซนติเมตร ทำให้ทรัพย์สิน และอุปกรณ์ทำเบาะจมน้ำเสียหาย หลังจากมีฝนตกหนัก เมื่อคืนที่ผ่านมา นานกว่า 1 ชั่วโมง เช่นเดียวกับตัวเมืองสระแก้ว ที่ถนนหลายจุดจมอยู่ใต้น้ำ

 


"อุทัยธานี - ลพบุรี" เผชิญน้ำท่วม

ไม่ต่างกับ จ.อุทัยธานี ฝนที่ตกต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาจนถึงช่วงเช้า ได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนศรีอุทัยธานีบางจุด เช่นเดียวกับบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ต่ำ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนไหลระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ทัน ทำให้ทรัพย์สินในบ้านเสียหาย

 

 

เช่นเดียวกับพื้นที่ ต.มหาโพธิ อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี ที่เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม 7 หมู่บ้านใน ต.มหาโพธิ ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 300 หลังคาเรือน หนักสุดอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 บ้านมหาโพธิ วัด บ้านเรือน และโรงเรียนจมอยู่ใต้สูงกว่าครึ่งเมตร เจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำลงสู่ที่ราบต่ำใน อ.โคกสำโรง ไปยังจุดสุดท้ายที่ อ.บ้านหมี่ ลงคลองชัยนาท - ป่าสัก

น้ำท่วมถนน 2 จังหวัด รถผ่านไม่ได้

ผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้ 2 เส้นทางใน 2 จังหวัด รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ คือ จ.ขอนแก่น ถนนทางหลวงชนบทสาย ขก.4011 แยก ทล. 2228 - บ้านทิพย์โสด อ.บ้านไผ่ ขณะนี้ทางขาด โดยได้ทำทางเบี่ยงชั่วคราว ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง คือสาย อบ.3027 แยก ทล. 212 - บ้านโพนเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี, อ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี มีน้ำท่วมสูงในพื้นที่ได้ติดตั้งป้ายเตือน จัดเจ้าหน้าที่ และเครื่องมือเครื่องจักรเข้าช่วยเหลือประชาชนแล้ว

 

 

ขณะที่ศูนย์บริหารงานอุบัติภัยสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง รายการเหตุการณ์น้ำท่วม 4 จังหวัด การจราจรยังผ่านได้ แต่ไม่สะดวก 7 เส้นทางใน จ.นครราชสีมา 2 เส้นทาง คือทางหลวงหมายเลข 2 เส้นทางมวกเหล็ก-บ่อทอง อ.ปากช่อง ระดับน้ำสูง 15 เซนติเมตร และเส้นทางหลวง 205 โคกสวาย-แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 1 อ.เมืองนครราชสีมา การเดินทางผ่านได้ไม่สะดวก

 

 

จ.ศรีสะเกษ ทางหลวง 221 ศรีสะเกษ-ภูเงิน อ.พยุห์ ระดับน้ำสูง 20 เซนติเมตร ทางหลวง 226 ห้วยทับทัน-ศรีสะเกษ อ.อุทุมพรพิสัย ระดับน้ำสูง 20 เซนติเมตร และทางหลวง 2085 กันทรลักษ์-กันทรารมย์ อ.เบญจลักษ์ เสาไฟฟ้าล้มขวางถนน การเดินทางผ่านได้ไม่สะดวก ส่วน จ.เพชรบูรณ์ ทางหลวงที่ 225 ศรีมงคล-น้ำอ้อม อ.บึงสามพัน ระดับน้ำสูง 30 เซนติเมตร การจราจรผ่านได้ไม่สะดวก และ จ.ระนอง ทางหลวงหมายเลข 4 เสียบญวน-กระบุรี อ.กระบุรี เกิดเหตุดินโคลนและต้นไม้ไหลทับผิวการจราจร ผ่านไม่ได้สะดวก

พายุ "โนอึล" กระทบพื้นที่ภาคอีสาน

สภาพน้ำป่าที่ไหลมาจากเทือกเขาพังเหย พื้นที่ต้นน้ำชี อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ซึ่งน้ำมีสีขุ่นแดง และไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านห้วยฝรั่ง และบ้านดงลาน ต.วะตะแบก นอกจากนี้ น้ำยังได้กัดเซาะถนนเชื่อมหมู่บ้านจนไม่สามารถสัญจรได้

เบื้องต้น นายสิทธา ภู่เอี่ยม นายอำเภอเทพสถิต ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุน้ำป่า และเร่งสำรวจความเสียหาย พร้อมประสานไปยัง ปภ.จังหวัด เพื่อขอการสนับสนุนเรือท้องแบน เพื่อนำมารับส่งชาวบ้านและใช้ในการขนย้ายทรัพย์สิน หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

 



ส่วนฝนที่ตกหนักตลอด 2 วัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังอาคารเรียน สนามฟุตบอล โรงอาหาร และเอ่อเข้าไปในห้องเรียนของโรงเรียนบ้านหนองรี ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถขนย้ายข้างของได้ทัน อุปกรณ์การเรียนการสอน โต๊ะ เก้าอี้ ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก

 

 

ขณะที่เทศบาลเมืองนางรอง ระดมเครื่องสูบน้ำจำนวน 8 เครื่อง เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังภายในโรงเรียนออก คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมระดับน้ำก็จะลดลงภายในวันนี้

ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี อิทธิพลของพายุโนอึล ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่โค่นล้มหลายจุดและทับเสาไฟฟ้า เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ ต้องเร่งตัดกิ่งไม้และเคลื่อนย้ายออกจากผิวจราจร เพื่อให้ใช้เส้นทางได้เร็วที่สุด

 

 

ขณะที่ภาพรวมใน จ.อุบลราชธานี พบว่าในช่วงพายุโนอึล มีฝนตกสะสมสูงถึง 300 มิลลิเมตร ส่งผลให้แม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตยปรับตัวสูงขึ้น 1 เมตร 39 เซนติเมตร แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งเกือบ 3 เมตร

หลายจังหวัดภาคใต้ได้รับผลกระทบ

ผลกระทบจากพายุ "โนอึล" ประกอบกับลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกหนัก คลื่นลมแรงบริเวณชายหาดปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง จนหลังคาสำนักงาน ร้านค้า ป้ายโฆษณาต่างๆ ถูกพัดปลิว อุปกรณ์ต่างๆ ในร้านค้าริมชายหาย เสียหาย และเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ยังเกิดต้นไม้ใหญ่ล้มทับบ้านเรือน เจ้าหน้าที่ระดมกำลัง เพื่อตัดต้นไม้และเปิดพื้นที่ ซ่อมแซมระบบไฟฟ้าให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

 

 

ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านใน อำเภอหาดสำราญ พยายามฝ่าคลื่นลม นำเรือกับขึ้นฝั่งอย่างยากลำบาก เนื่องจากคลื่นลมรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้เรือประมงของชาวบ้าน 2 ลำถูกคลื่นซัดจมลงทะเล และยังไม่สามารถกู้ขึ้นได้

 

 

ขณะที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ ประกาศปิดพื้นที่ท่องเที่ยวชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุโนอึล ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ ก็ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวงดกิจกรรมการท่องเที่ยวในช่วงนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

 

 

ส่วนที่ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง เกิดลมพัดอย่างรุนแรงและมีฝนตกหนัก ส่งผลทำให้มีต้นไม้ล้มในหลายพื้นที่ นอกจากนั้น ยังทำให้บ้านของนายภาส ลี่เด็น พื้นที่หมู่ 2 บ้านเกาะปู ที่อยู่ไม่ไกลจากทะเล ลมพัดหลังคาบ้านเสียหายทั้งหลัง หลังคาปลิวไปไกลกว่า 20 เมตร ส่วนความเสียหายอื่นๆ นั้นอยู่ระหว่างการสำรวจ

"ไฟฟ้า-น้ำมัน" รับมือพายุโนอึล

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง และเตรียมเสาไฟฟ้าชั่วคราวและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้รองรับ ส่วนโรงไฟฟ้าและเขื่อนได้ตรวจสอบความพร้อมทุกพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เช่น เขื่อนน้ำพุง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ไม่ให้กระทบกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

 

 

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) มีมาตรการตรวจสอบอุปกรณ์และระบบถังเก็บน้ำมันใต้ดินทุกสถานีบริการน้ำมัน ขณะที่สำนักงานพลังงานจังหวัดทุกพื้นที่ ลงพื้นที่ให้คำปรึกษากับชาวบ้านกรณีอุปกรณ์ด้านพลังงานชุมชน เช่น บ่อหมักก๊าซชีวภาพ พาราโบล่าโดมอบแห้ง หรือแผงโซลาร์เซลล์ ที่อาจได้รับความเสียหายจากพายุดังกล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง