"บีทีเอส" ค้านเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม

เศรษฐกิจ
24 ก.ย. 63
17:58
394
Logo Thai PBS
"บีทีเอส" ค้านเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม
"บีทีเอส" ยื่นหนังสือต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลัง รฟม. รื้อทีโออาร์ ด้านองค์กรต่อต้านคอรัปชัน ระบุ โครงการส่อเค้าไม่โปร่งใส ไม่เคยมีโครงการไหนปรับเงื่อนไขหลังการประมูล

วันนี้ (24 ก.ย.2563) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่ง มวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ยื่นหนังสือต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินรวมงานอาณัติสัญญาณ 142,789 ล้านบาทเป็นโครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP Net Cost ได้ผ่านกระบวนการทุกขั้นตอน จนขายซองไปแล้ว

แต่ รฟม. โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ได้ปรับเกณฑ์การประมูลใหม่ โดยไม่ได้ดูเกณฑ์ด้านราคาอย่างเดียว ซึ่งผู้ที่ให้ข้อเสนอกับรัฐที่ดีที่สุดจะได้รับการคัดเลือก แต่คณะกรรมการกลับเปลี่ยนแปลงนำคะแนนเทคนิคมาคิดเป็นร้อยละ 30 และด้านราคาร้อยละ 70 โดยเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์หลังจากการการประกวดราคาแล้ว ทำให้ทราบว่าคู่แข่งเป็นใครบ้าง ซึ่งอาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ซื้อซองประกวดราคา จึงต้องการให้กลับมาใช้ ทีโออาร์ เดิม ที่ให้ยึดราคาเป็นเกณฑ์พิจารณาอย่างเดียว

ล่าสุดได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลนัดหมายไต่สวนตามกระบวนการกฎหมาย คาดว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาก่อนวันกำหนดยื่นซองประมูล คือวันที่ 6 พ.ย. 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะยังยื่นข้อเสนอ แต่อาจเป็นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ที่ประกอบด้วย BTSC, บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ แต่ละบริษัทคงต้องหารือในบอร์ดกันก่อน

 

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างต้องโปร่งใส เปิดเผยได้อย่างเสรี แต่จากที่เห็นโครงการนี้ มีการเปลี่ยกติกา แบบที่ไม่เคยเกิดขึันในประเทศไทยมาก่อน

หากจะเปลี่ยนเงื่อนไขหลังการขายซอง จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกทีโออาร์เดิมหรือขายซองใหม่เท่านั้น เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลังการขายซองแล้วถือว่าขัดต่อธรรมาภิบาล เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หากยอมรับ ประเทศจะเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

นอกจากนี้การประมูลรถไฟฟ้าของประเทศไทยที่ผ่านมาจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สีเขียว และสีม่วง ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ภาครัฐบาลได้ใช้ข้อตกลงคุณธรรมเพื่อมีความโปร่งใส แต่กลับกันโครงการนี้ที่โครงการเดียวมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทเทียบเท่ากับทั้ง 3 สาย หากมีการใช้ข้อตกลงคุณธรรมตั้งแต่ต้นก็จะเกิดความโปร่งใส

ขณะที่วันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.63) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะแถลงข่าว เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 อาคาร 1 รฟม.

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง