ขบวนการเรียกรับผลประโยชน์ งบแก้ภัยแล้ง

ภูมิภาค
2 ต.ค. 63
10:45
654
Logo Thai PBS
ขบวนการเรียกรับผลประโยชน์ งบแก้ภัยแล้ง
เดือนมิถุนายน รัฐบาลจัดสรรงบกลางกว่า 8 พันล้านบาท ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่พบปัญหาการดำเนินโครงการในบางพื้นที่ มีผู้รับเหมาเข้าไปขุดลอก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการสร้างฝายก็ไม่ตรงตามความต้องการของชาวบ้าน
มีผู้ให้ข้อมูลว่าโครงการขุดลอก-สร้างฝาย อาจมีขบวนการแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์จากการรับเหมาทำโครงการ ซึ่งทำให้โครงการเกิดปัญหา

ไทยพีบีเอสติดตามการทำงานของผู้รับเหมาคนหนึ่ง ที่เพิ่งเข้าขุดลอกแหล่งน้ำ ของ อบต.แห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร  

เขาบอกว่าการขุดลอกเกิดขึ้น หลังจาก อบต.   เพิ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ อบต.อื่นๆ ได้รับอนุมัติตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563

ซึ่งในเดือนมิถุนายน มีผู้รับเหมา บางราย ไปขุดลอกแหล่งน้ำ ของ อบต.หลายแห่งในจังหวัด ยโสธร ทั้ง ๆ ที่ ยังไม่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง บางพื้นที่ชาวบ้านร้องเรียนก็เป็นข่าว ป.ป.ช.ตรวจสอบ แต่บางพื้นที่ชาวบ้านยินยอม ก็ไม่เป็นข่าว

สาเหตุที่ผู้รับเหมาลงมือขุดก่อนทำสัญญา เพราะต้องรีบขุดให้แล้วเสร็จก่อนฝนตก การขุดลอกในหน้าฝน อย่างงานที่เขาทำตอนนี้ ลำบากกว่ามาก

ต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกก่อน เพราะเสี่ยงที่รถแบคโฮจะติดหล่ม ต้องเสียน้ำมันเพิ่มขึ้น กำไรก็ได้น้อยลง

แต่เพราะเหตุใดที่ทำให้ผู้รับเหมาบางรายกล้าไปขุดลอกทั้ง ๆ ที่ ยังไม่ได้ทำสัญญา มีข้อสังเกต จากคนในวงการผู้รับเหมา คาดว่า ได้ตกลงกันล่วงหน้า และผู้ที่กล้าขุดต้องมั่นใจ ว่า โครงการจะได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอน

ไทยพีบีเอสได้รับข้อมูลจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดยโสธร ว่า หลังจาก ยื่นเสนอขอโครงการขุดลอก ระหว่างรอการพิจารณา เค้าถูกกลุ่มขบวนการกลุ่มหนึ่ง  เรียกรับผลประโยชน์ ด้วยข้อเสนอให้ ตกลงทำสัญญาขุดลอกกับผู้รับเหมา ที่ขบวนการนี้จัดหาให้  หากไม่ตกลง โครงการที่ขอไปจะถูกตัด

นั่นหมายถึง ระหว่างการพิจารณาโครงการ มีกลุ่มนายหน้าทำหน้าที่ เชื่อมต่อระหว่าง ผู้รับเหมา และหน่วยงานของรัฐ

มีข้อมูลว่าผู้รับเหมาบางราย ไม่ตกลงรับปากจ่ายสินบนหรือเงินทอนโครงการให้กลุ่มนายหน้า ก็จะไม่ได้งาน

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ยโสธร เข้าตรวจสอบ โครงการขุดลอกและสร้างฝายจำนวน 44 โครงการ งบประมาณกว่า 22 ล้านบาท ของเทศบาลตำบลกุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร

เมื่อพบว่า มีผู้รับเหมาเข้าไปขุดลอกแหล่งน้ำ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง

ก่อนที่เทศบาลฯจะยกเลิกสัญญาโครงการที่ลักลอบขุด

แต่ล่าสุด พบว่าการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ ไม่เสร็จตามกำหนด เนื่องจากมีฝนตกหนัก ลำห้วยมีน้ำมากไม่สามารถก่อสร้างฐานรากได้

นอกจากฝายชะลอน้ำคอนกรีต  ยังมีฝายกระสอบทราย จำนวน 11 โครงการ งบประมาณโครงการละกว่า 4 แสน 7 หมื่นบาท  แต่ละโครงการจะสร้างฝายลักษณะนี้ 3-5 จุด ต่อเนื่องไปตามลำน้ำ 

ฝายกระสอบทรายหลายจุด ถูกน้ำพัดพังเสียหาย ตลิ่งที่ขุดลอกใหม่ทรุดพัง แม้ผู้รับเหมาจะเตรียมเข้าซ่อมแซม แต่เกษตรกรที่ต้องใช้ประโยชน์จากฝายบอกว่า ไม่เคยต้องการฝายกระสอบทราย เพราะไม่เหมาะสมกับพื้นที่ 

ชาวบ้านบอกว่า ฝายกระสอบทรายหรือฝายแม้วเหมาะกับภาคเหนือ ลำห้วยสายเล็กๆ หรือพื้นที่ต้นน้ำ แต่ต้องทำให้แน่นหนามากกว่านี้ ในลักษณะฝายหินทิ้ง หรือฝายแม้วที่ชาวบ้านในภาคเหนือช่วยกันทำใช้งบประมาณไม่สูง ไม่เหมือนฝายกระสอบทราย จ.ยโสธร แค่ทำไม่ถึงปี น้ำก็พัดพังเสียหาย

**ภาพฝายแม้ว-ฝายหินทิ้งภาคเหนือ ชาวบ้านช่วยกันทำ

แตกต่างจากที่จังหวัดยโสธร ที่ฝายกระสอบทรายให้ผู้รับเหมามาทำ ผู้รับเหมาจ้างชาวบ้านในมาทำฝายกระสอบทรายด้วยค่าแรงวันละ 300 กว่าบาท

จุดนี้ เป็นจุดที่ชาวบ้านเพิ่งเริ่มทำงานครั้งแรก และทำผิดแบบจึงต้องแก้ไขให้แน่นหนายิ่งขึ้น ผู้รับเหมาบอกกับชาวบ้านว่า จะเอาถุงบิ๊กแบ็คมาวางกั้นลำน้ำแทน แต่ชาวบ้านกลับมองว่ายิ่งจะทำให้ตลิ่งทรุดพัง

เครือข่ายภาคประชาชน  รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 

มีสำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาอนุมัติโครงการ  

พวกเขามองว่า โครงการขุดลอก และสร้างฝาย บางโครงการอาจไม่คุ้มค่า และมีกลุ่มขบวนการที่ได้ผลประโยชน์จากงบประมาณก้อนนี้

อยากฝากไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ ให้มองเห็นความสำคัญของประชาชน ทำโครงการแล้วประชาชนได้ประโยชน์มั้ย  หรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา หรือคนมีเงิน ที่สามารถเอาโครงการมาได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็ไม่มีความยุติธรรมสำหรับประชาชน  ต้องเกิดประโยชน์กับเขาจริงๆ ไม่ใช่ว่าเอาบางพื้นที่ เด็กเขาเด็กเรา

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามตรวจสอบ และเร่งรัดโครงการขุดลอก และสร้างฝาย ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ

ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ยืนยันว่า กลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความสามารถควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า

แต่ข้อมูลจาก สทนช.กลับสวนทางกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ตรวจสอบการทุจริตและคอรัปชั่น ที่ร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐบางแห่ง  ที่อาจมีพฤติกรรมเรียกรับเงินทอนโครงการจากผู้รับเหมาเสียเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง