หมอเตือน "ตาเหลือง-ตัวเหลือง" สัญญาณเสี่ยงมะเร็งตับ

สังคม
14 ต.ค. 63
13:03
10,421
Logo Thai PBS
หมอเตือน "ตาเหลือง-ตัวเหลือง" สัญญาณเสี่ยงมะเร็งตับ
หมอเตือน "ตาเหลือง ตัวเหลือง" อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งตับ ระบุไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 20,000 คน สาเหตุไม่ใช่แค่การดื่มเหล้า แต่ยังมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี และซี แนะสังเกตอาการผิดปกติ เช่น แน่นท้อง ตัวเหลือง ท้องโต มีอาการขาบวม

วันนี้ (14 ต.ค.2563) ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “ตาเหลือง ตัวเหลือง อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งตับ” กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าตาเหลือง ตัวเหลือง เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนมะเร็งตับและท่อน้ำดี

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งตับและท่อน้ำดี เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย แต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 20,000 คน มะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีตับ

สาเหตุของมะเร็งเซลล์ตับ หลายคนอาจทราบแต่เพียงว่าเกิดจากการดื่มเหล้า แต่ในความเป็นจริงยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อยในบ้านเราคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบีและซี เป็นผลทำให้เซลล์ตับถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง มีไขมันสะสมในตับมากขึ้นและเกิดผังผืดขึ้นแทนที่เซลล์ตับปกติ ส่วนมะเร็งท่อน้ำดีตับพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับจากการกินปลาน้ำจืดดิบ การรับประทานอาหารที่มีดินประสิว และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนมไส้กรอกเป็นประจำ รวมถึงการมีภาวะท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง

แนะสังเกตอาการเบื้องต้น

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงของโรคแตกต่างกันและมักไม่มีอาการในระยะแรก โดยอาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้างหากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ส่วนการป้องกันโรคทำได้โดยการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิด ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อาหารที่มีดินประสิว และอาหารหมักดอง 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง