เอกชนห่วง "ม็อบ" ยืดเยื้อ-รุนแรงอาจฉุดเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจ
14 ต.ค. 63
12:56
513
Logo Thai PBS
เอกชนห่วง "ม็อบ" ยืดเยื้อ-รุนแรงอาจฉุดเศรษฐกิจไทย
หอการค้าไทยหวั่นการชุมนุมยืดเยื้อและรุนแรงอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยติดลบเพิ่ม ขณะเดียวกันเหตุการณ์การชุมนุมหลายจุดยังมีผลกับการซื้อขายหุ้นไทย วันนี้ (14 ต.ค.) เปิดตลาดร่วงลงกว่า 7 จุด

วันนี้ (14 ต.ค.2563) ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าการชุมนุมในแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้นขณะนี้ หอการค้าไทยมองว่า ถ้าสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ ชุมนุมแบบค้างคืนไม่นาน และไม่เกิดการประทะรุนแรงหรือบานปลาย คาดว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมความเชื่อมั่นของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อไม่จบ เกิดการปะทะรุนแรงและเกิดการชุมนุมในทุกพื้นที่และยาวนาน จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ โดยเฉพาะการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจจะยิ่งติดลบไปมากกว่าที่คาดการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 4 และกระทบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะหมุนน้อยลงจาก 2-3 แสนล้านบาท เหลือ 1-1.5 แสนล้านบาท ส่งผลทำให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 6-7 แต่หากการชุมนุมครั้งนี้ไม่ยืดเยื้อและจบโดยเร็ว ก็คาดว่าแนวทางที่กระตุ้นออกมาในช่วงไตรมาสที่ 4 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ติดลบเพียงร้อยละ 7-9 เท่านั้น

ประกอบกับในช่วงปลายเดือน ธ.ค.2563 จะมีการเลือกตั้ง อบจ.ที่จะมีเม็ดเงินในการหาเสียงสู่ระบบมีมากถึง 30,000 ล้านบาท ที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ รวมทั้งในการเลือกตั้ง อบต.ในต้นปี 2564 ที่จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอีก 30,000 ล้านบาท น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้

เอกชนมองชุมนุมการเมืองกระทบลงทุนไทย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลหนึ่งให้ นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง หลังไม่สามารถวางแผนการลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยน อีกทั้งระเบียบการลงทุนไม่จูงใจเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

สอดคล้องข้อมูลเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนไทย จนถึงขณะนี้ไม่น้อยกว่า 2.8 แสนล้านบาท และตลอด 8 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ มากกว่า 9 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นไทยลดลงที่ร้อยละ 25.6 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้บริหารสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส วิเคราะห์ว่า การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกฯ ตั้งแต่เดือน ส.ค. ถึงปัจจุบัน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีหลักทรัพย์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.4 เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกมากกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท และเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 1.8 แต่เชื่อว่าการชุมนุมใหญ่ในวันนี้ (14 ต.ค.) จะไม่รุนแรง

หุ้นไทยเปิดตลาดลบ 7 จุด

ขณะที่การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เช้าวันนี้ (14 ต.ค.) เปิดตลาด 1,265.97 จุด ปรับลดลง 7.46 จุด ก่อนจะค่อยๆ ปรับตัวกลับขึ้นมา บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี มองหุ้นไทยวันนี้ยังแกว่งตัวในกรอบแคบ จนกว่าตลาดจะมองว่าการชุมนุมจะไม่วุ่นวาย ส่วนแนวโน้มการปักหลักชุมนุมหลายวันจะส่งผลต่อตลาดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อเรียกร้องและการเคลื่อนการชุมนุมไปในสถานที่สำคัญๆ และสถานการณ์บานปลายออกไปมากน้อยเพียงใด

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ตลาดเงินตลาดทุนได้รับรู้เรื่องการชุมนุมมาพอสมควร ส่วนใหญ่ตลาดจะคาดการณ์ล่วงหน้าและรอดูว่าจะเป็นอย่างไร

ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุด้วยว่า ผลกระทบแง่เศรษฐกิจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการชุมนุมกระทบการทำงานของภาครัฐ เช่น ปิดล้อมสถานที่สำคัญจนทำงานไม่ได้ หรือกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณ อีกส่วนคือกระทบกับการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น ทำการค้าไม่ได้ ประชาชนไม่สามารถออกบ้านได้ ที่น่าห่วงคือ การชุมนุมจะบานปลายจนเกิด 2 ปัจจัยนี้หรือไม่ หากเกิดขึ้นจะถือว่ากระทบกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง