ก้าวต่อไปของ "พล.อ.ประยุทธ์" ถ้า (ไม่) ลาออก

การเมือง
28 ต.ค. 63
11:51
4,542
Logo Thai PBS
ก้าวต่อไปของ "พล.อ.ประยุทธ์" ถ้า (ไม่) ลาออก
ถอดรหัส นายกฯ ลาออก-ไม่ลาออก "ส.ว." ยังเป็นเงื่อนไขการแก้ รธน. และการโหวตเลือก นายกฯ ส่วนข้อเสนอ "ประชามติ” ส่อมีนัยยะซ่อนเร้น เสี่ยงเป็นเงื่อนไขวิกฤตรอบใหม่

วันนี้ (28 ต.ค.2563) "ไม่ลาออก" เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของ นายกรัฐมนตรี ภายหลังการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมา ตามคำกล่าวปิดการประชุมช่วงหนึ่งว่า "ผมจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพื่อหนีปัญหา จะไม่ละทิ้งหน้าที่ด้วยการลาออกยามที่บ้านเมืองมีปัญหา" 

ถ้อยคำข้างต้นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้แจงต่อรัฐสภา ส่วนเหตุผลทางการเมือง ได้รับการชี้แจงจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมายเช่นกัน

เหตุผลทางด้านสำนึกของ นายกฯ หรือเหตุผลด้านการเมืองที่ รองนายกฯ ชี้แจงจะฟังขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่รอบด้าน

ขั้นตอนต่อไป (ถ้า) นายกฯ ลาออก

ไทยพีบีเอส ตรวจสอบขั้นตอนการเลือกนายกฯ ตามกลไกในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้องโดยตรง ดังนี้

         มาตรา 88 มีสาระสำคัญ คือ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองต้องส่งชื่อบุคคล ที่จะเสนอชื่อเป็น นายกฯ ตามที่สื่อเรียกว่า "บัญชีนายกฯ" 

         มาตรา 159 มีสาระสำคัญ คือ กำหนด ส.ส. ลงมติเลือกบุคคลเป็น นายกฯ โดยเลือกจากบุคคลที่ถูกเสนอชื่อในบัญนายกฯ

         ซึ่งพรรคที่จะเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ต้องมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 5% ของสภาฯ และมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาฯ ส่วนการลงมติ นายกฯ ต้องอาศัย ส.ส.เกิน "กึ่งหนึ่ง" ของสภาฯ โดยการลงมตินั้นต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย

         มาตรา 272 มีสาระสำคัญ คือ ช่วง 5 ปีแรก นับแต่การเปิดประชุมสภาฯ ครั้งแรก การลงมติเลือก นายกฯ ให้เป็นการลงมติร่วมกันของรัฐสภา คือ ส.ส. และ ส.ว. โดยอาศัยสมาชิกรัฐสภาเกิน "กึ่งหนึ่ง" ของรัฐสภา

         หากไม่สามารถเลือก นายกฯ จากบัญชีรายชื่อนายกฯ ต้องอาศัยเสียงเกิน "กึ่งหนึ่ง" ของรัฐสภา ขอให้ประธานรัฐสภาเปิดประชุมรัฐสภา จากนั้นต้องใช้เสียงของสมาชิกรัฐสภา ไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 เพื่อขอให้ "ยกเว้น" การเลือก นายกฯ จากบัญชีนายกฯ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้เลือก นายกฯ คนนอก

อ่านเพิ่ม รัฐธรรมนูญ ปี 2560

ส.ว.ยังอยู่ ทั้งเลือก นายกฯ และแก้ไข รธน.

ทั้งนี้หาก นายกฯ ลาออกวันนี้ ขั้นตอนการเลือก นายกฯ คนใหม่ ยังเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยมีเงื่อนไขตาม มาตรา 272 ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล คือ การเลือก นายกฯ จากบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไว้ และให้รัฐสภา คือ ส.ส. และส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกฯ

พรรคการเมืองที่สามารถเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ได้นั้น ต้องมี ส.ส. เสนอชื่ออย่างน้อย 5% ของสภาฯ และมี ส.ส.รับรองอย่างน้อย 24 คน

 

ขณะนี้มีอยู่ 5 พรรคการเมือง คือ 1.พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 2. พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ แต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปแล้ว

3.พรรคเพื่อไทย เสนอ 3 รายชื่อ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,นายชัยเกษม นิติศิริ ,นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 4.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ 5. พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกฯ

ทั้งนี้ยังมีพรรคเสรีรวมไทย ที่มีโอกาสเสนอชื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นนายกฯ ได้เช่นกัน เพราะสามารถหา ส.ส. อย่างน้อย 5% เสนอชื่อได้ แต่อาจมีอุปสรรคในการหา ส.ส.รับรองรายชื่อ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ แม้ลาออกจากตำแหน่ง แต่ยังสามารถกลับเข้ามาเป็น นายกฯ ได้ เนื่องจากมีรายชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ

"วิษณุ" อ้างถ้า ส.ว.ไม่โหวต เลือกนายกฯ ไม่ได้

วันที่ 26 ต.ค.63 นายวิษณุ ชี้แจงต่อประเด็นการลาออกของนายกฯ ว่า หาก นายกฯ ลาออก การเลือก นายกฯ คนใหม่ ยังคงดำเนินการตามขั้นตอน มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ และต้องใช้เสียงเกิน "กึ่งหนึ่ง" ของรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลเป็น นายกฯ

ขณะนี้มี ส.ส. และ ส.ว. รวม 732 คน ซึ่งเสียงเกิน "กึ่งหนึ่ง" คือ 366 คน โดยเลือกจากบุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกฯ 5 พรรค มี 5 รายชื่อ ไม่รวม พล.อ.ประยุทธ์ และตัดชื่อของ นายธนาธร ออกไป แต่หากดำเนินการไม่ได้ตามขั้นตอนนี้ก็จะเกิดปัญหาทางกฎหมาย

ถ้าไม่ได้ (366 เสียง) ก็จะเรื่องข้อกฎหมาย ถ้าถึงทางตันจะทำอย่างไร ถ้า ส.ว.ไม่ออกเสียงเลยแม้แต่เสียงเดียว

"ส่วนที่มีผู้เสนอท่านนายกฯ ว่าขอให้พรรคพลังประชารัฐช่วยกรุณาเทเสียงร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน แล้วยกใครสักคนมาเป็นนายกฯ ถ้าเป็นไปได้ก็เดินได้ 

...แต่ทั้งหมดเป็นเรี่องที่คิด เพราะนายกฯ เอง ท่านก็ได้รับเสียงสนับสนุนเหมือนกันว่า ‘อย่าลาออก’ ซึ่งจะลาออกหรือไม่เป็นดุลยพินิจของ นายกฯ ซึ่งเป็นทางเลือกหรือทางออกที่หยิบยกมาพูดทั้งสิ้น"

 

ทั้งนี้ นายวิษณุ ได้ชี้แจงถึงทางออกต่อที่ประชุมรัฐสภาแทนการลาออกของ นายกฯ คือการเร่งรัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี Timeline คือเริ่มพิจารณา "กม.ประชามติ" หลังเปิดประชุมสมัยสามัญ (เปิดประชุม วันที่ 1 พ.ย.นี้) จากนั้นพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญควบคู่กัน โดยพิจารณา วาระ 1-3 เสร็จในเดือน ธ.ค.

เมื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ คาดว่าจะพิจารณา กม.ประชามติ พอดีกัน จากนั้นก็เปิดให้มีการประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นการตั้ง ส.ส.ร. เมื่อผ่านการประชามติก็สามารถดำเนินการต่อไปได้

ผู้สื่อข่าว –ข้อสังเกตต่อข้อเสนอของรัฐบาล จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินการไปได้ ขณะที่ นายกฯ –ครม. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เช่นกัน

การอภิปรายรัฐสภา ไม่ได้มีเฉพาะของเสนอที่เป็นสูตรของรัฐบาล แต่มีข้อเสนอ "ประชามติ" จาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ประชามติว่าสมควรมีการชุมนุมหรือไม่

และข้อเสนอจาก พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. น้องชายของนายวิษณุ ที่เสนอให้จัด "ประชามติ" พร้อมกับการเลือกตั้ง นายก อบจ. วันที่ 20 ธ.ค.นี้ โดยให้มีคณะกรรมการร่วมกันตั้งคำถาม 2-3 คำถาม เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมือง

ผู้สื่อข่าว –ข้อเสนอนี้ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับ เนื้อหา-รายละเอียดของคำถาม ซึ่งหากเป็นการถามเกี่ยวการมีอยู่ของ บุคคล หรือ คณะบุคคล อาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เช่น การประชามติเพื่อถามความเห็นชอบจากประชาชน ว่า นายกฯ สมควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่

"ประชามติ" ความจริงใจ หรือ นัยยะซ่อนเร้น

รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตถึงเงื่อนไขที่รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างไม่ให้ นายกฯ ลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการประชามติ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่ใช่ทางออก และมีนัยยะซ่อนเร้นทางการเมืองแอบแฝงอยู่

โดยเฉพาะการที่ นายวิษณุ เสนอให้มีการประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่มี ส.ว. เสนอให้ประชามติเกี่ยวกับความขัดแย้ง ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของ นายกฯ หรือรัฐบาล

 

"แสดงว่าข้อเสนอเมื่อวานนี้มีอะไรซ่อนเร้นอยู่ ความชัดเจนเรื่องการออกเสียประชามตินั้น วันที่ 20 ธ.ค. เลือกนายก อบจ. จะออกประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการหา ส.ส.ร. ซึ่งต้องประชามติ

...แต่บอกว่าจะถามประชามติ ไปคิดค้นคำถาม 2-3 ข้อ แน่นอนว่าการออกเสียงประชามติ ซึ่ง อาจารย์วิษณุ บอกแล้วว่าจากการหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะถามเกี่ยวกับตัวบุคคลไม่ได้" รศ.ตระกูล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการพิเศษ “ทางออกประเทศไทย” ไทยพีบีเอส 26 ต.ค.2563

ถ้าเผื่อประเด็นนี้มันเป็นเกม เป็นเกมที่จะยื้ออำนาจหรือเกมที่จะต่อสู้ในเชิงการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงแค่ทำตามกระแสเรียกร้อง ยังไม่พูดถึงเนื้อหา ความยุ่งยากจึงตามมา

"ทีนี้เป็นปัญหาที่ต้องหาคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเป็นการสอดรับกันระหว่างรัฐบาล กับ ส.ว. การที่จะเดินเกมออกเสียงประชามติ ว่าจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ผมคิดว่าขัดต่อหลักการของประชาธิปไตยโดยระบอบรัฐสภา

...คือเราจะใช้ประชามติเพื่อที่จะให้ คนๆหนึ่ง หรือ คณะบุคคล อยู่ในอำนาจหรืออยู่ต่อไป มาตรา 166 บอกอยู่แล้วว่าประชามติทำในเรื่องของตัวบุคคลไม่ได้"

รศ.ตระกูล ยังเสนอทางออกว่า การเลือกนายกฯ หรือการหาทางออกไม่ได้มีเฉพาะสูตรที่ นายวิษณุ อธิบายไว้ และส่วนตัวเสนอให้ทำ 3 ขั้นตอน คือ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา เช่น การแก้ไขรายมาตราเพื่อไม่ต้องประชามติ อาทิ เรื่อง ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ม.272 และการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ เป็นเรื่องที่ทำได้

2.หาก นายกฯ ไม่อยากลาออก ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด ก็อาจใช้วิธีการยุบสภาฯ แล้วเลือกตั้งใหม่ และ 3.การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยากเล่นการเมือง ก็สามารถลงเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม เพราะมีการแก้ไข ม.272 แล้ว ไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีเรื่อง ส.ว.ร่วมโหวตเลือก นายกฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง