ศึกเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงใหม่ ใครจะได้เก้าอี้ไปครอง?

ภูมิภาค
31 ต.ค. 63
14:19
8,601
Logo Thai PBS
ศึกเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงใหม่ ใครจะได้เก้าอี้ไปครอง?
การเมืองท้องถิ่น เลือกตั้งนายก อบจ. ขณะนี้ถูกจับตามองจากคอการเมือง เนื่องจากพรรคการเมืองใหญ่ ประกาศส่งคนของตนเองลงสู้ศึกในนามพรรค “เพราะการเมืองท้องถิ่นคือฐานเสียงที่ชัดเจน” ต่างจากอดีตที่สนับสนุนผ่าน ส.ส.ในพื้นที่เท่านั้น

เป็นที่รู้กันดีว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. มีรายได้หลักมาจากท้องถิ่นในรูปแบบภาษี เช่น น้ำมัน โรงแรม ร้านค้า ที่ดิน การจำหน่ายสุรา ฯลฯ

และภาษีที่ส่วนกลางจัดเก็บ แล้วส่งมาให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ค่าธรรมเนียมรถยนต์ และล้อเลื่อน ค่าภาคหลวงแร่ และค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ฯลฯ

จึงไม่น่าแปลกในที่ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองใหญ่จะส่งคน ลงสมัครในนามของพรรค

ซึ่งผู้สมัครอาจจะเป็นคนที่ยังสังกัดพรรค และเบื่อการเมืองสนามใหญ่ หรือสมาชิกพรรคที่ยังมีเพาเวอร์ และต้องการเป็นฐานเสียงหลักให้กับพรรค ในการเลือกตั้งสนามใหญ่

สนามเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ ทุกวันนี้ จึงบอกไม่ได้ว่าที่ไหนน่าสนใจกว่ากัน เพราะแต่ละพื้นที่ล้วนมีเอกลักษณ์ สิ่งที่น่าสนใจ ความท้าทายต่างกันไป

ศูนย์ข่าวไทยพีบีเอส ภาคเหนือ ประเดิมจับตา "เชียงใหม่" เป็นจังหวัดแรก

จังหวัดเชียงใหม่ สนามการเมืองระดับชาติ เจ้าของพื้นที่ คือ “พรรคเพื่อไทย” แต่ในศึกการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด "นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร" อดีตสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ก๊อง

ที่เปลี่ยนชื่อจาก นายชูชัย ประกาศชัดแล้วว่า พรรคได้มอบฉันทานุมัติ ให้ลงสมัคร พร้อมผู้สมัคร ส.อบจ. ทั้ง 42 เขต ซึ่งได้เตรียมตัวตั้งแต่ปี 2557

ตอนนั้นยังมีตำแหน่งเป็น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งนี้เชื่อมั่นในฐานเสียงของพรรคที่เหนียวแน่น ตั้งแต่ยุคของ นายทักษิณ ชินวัตร ว่าจะชนะคู่แข่ง

ในขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคอันดับ 1 ฝั่งรัฐบาล ล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แม่ทัพใหญ่ภาคเหนือ ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ ว่า

มีอดีตสผู้มัคร ส.ส.ของพรรคเขต 7 ชื่อ นายบดินทร์ กินาวงศ์ ขอลงสมัครพร้อมทีมผู้สมัคร สจ. เท่านั้น

คำประกาศนี้ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับคนเชียงใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ "นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์" นายก อบจ.เชียงใหม่ 2 สมัย ในฐานะประธานกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม

ที่มีข่าวว่า สนิทกับแกนนำพรรครัฐบาล แม้เจ้าตัวจะประกาศว่า ไม่สังกัดพรรค และเป็นมิตรกับทุกพรรคการเมือง

ทั้งนี้สาเหตุที่เจ้าตัว "ไม่สังกัดพรรคการเมือง" ว่ากันว่า เกรงใจตระกูล "ชินวัตร" ที่อุ้มชูกันมาในอดีต และ "บูรณุปกรณ์" หลายคนก็เคยอยู่ร่มชายคาพรรคนี้

ที่ผ่านมาเจ้าตัวตระเวนเปิดตัวทีมงานพบว่า ส.อบจ. ทีมงานปัจจุบัน ส่วนหนึ่ง ขอไปสมัครในนามพรรคเพื่อไทย แต่ไม่มาก และบางส่วนก็ขอยุติบทบาททางการเมือง

แต่คนที่เข้ามาแทนก็เรียกว่าไม่ธรรมดา เช่น นายวิเชียร โมตาลี ว่าที่ผู้สมัคร ส.อบจ.แม่แจ่ม อดีตประธานสหกรณ์นิคมแม่แจ่ม จำกัด 2 สมัย

ซึ่งนายประทีป ลิโก ส.อบจ. ปัจจุบัน ขอถอนตัว เนื่องจากปัญหาสุขภาพ แต่ได้แนะนำ นายวิเชียร ผู้เป็นเพื่อนมาแทน ซึ่งวันเปิดตัวหลายคน พบนายอัฐ สมยศ ประธานชมรมผู้บริหาร อปท.อ.แม่แจ่ม และนายณัณฐณัชร์ เกิดใหม่ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.แม่แจ่ม อยู่ในงานด้วย

ส่วนพลพรรคสีส้ม พรรคก้าวไกล หรือ พรรคอนาคตใหม่ ในอดีต นายชำนาญ จันทร์เรือง อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิการเมือง ยืนยันว่า พื้นที่ จ.เชียงใหม่-ลำพูน กลุ่มยืนยันไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคลง

ดังนั้นจึงแน่ชัดว่า ตำแหน่งนายก อบจ. และ ส.อบจ. เชียงใหม่ จะเป็นการช่วงชิง ของพรรคเพื่อไทย ที่ยังครองใจคนเชียงใหม่ แม้ว่าจะเริ่มไม่เต็มร้อย เหมือนอดีต

และกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ที่มีผลงานบริหาร อบจ.มากว่า 10 ปี และกลุ่มผู้บริหารมีสายสัมพันธ์ ไปยังฟากฝั่งพรรครัฐบาล อันดับ 1 ส่วนผู้สมัครพรรคประชารัฐนับว่ากระดูกยังเป็นเบอร์รอง และอาจจะเป็นเป้าลวง ที่วางไว้ก็เป็นได้

แต่ถึงที่สุดก็ต้องดูกลยุทธ์การหาเสียง แก้เกม การลบจุดบอด หลังลงรับสมัคร ว่าฝ่ายไหนทำได้ดีกว่ากัน จนครองใจคนเชียงใหม่ไปได้ ต้องจับตาดูกันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง