ผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตามการจัดระเบียบม่อนแจ่ม

ภูมิภาค
4 พ.ย. 63
15:16
493
Logo Thai PBS
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตามการจัดระเบียบม่อนแจ่ม
ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม ต.โป่งแยง และ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กรณีนำที่ดินไปใช้ประกอบธุรกิจที่พัก-รีสอร์ท ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงหนองหอย

วันนี้ (4 พ.ย.2563) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ท.เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 และคณะ

ร่วมประชุมหารือกับ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ นายศรัญญู มีทองคำ รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่ นายวัน ม่วงมา นายก อบต.โป่งแยง ผู้แทนอำเภอแม่ริม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) ต.โป่งแยง ต.แม่แรม อ.แม่ริม นำที่ดินไปใช้ประกอบธุรกิจที่พัก-รีสอร์ท ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงฯ

 

พล.อ.วิทวัสเปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ตามที่มีการร้องเรียนจากผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก ในพื้นที่ม่อนแจ่ม เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน กรณีกรมป่าไม้ประกาศให้ระงับการประกอบธุรกิจและดำเนินคดีอาญา ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) อีกทั้งมีคำสั่งให้รื้อถอนสถานประกอบการ

พบว่า ป่าแม่ริมเป็นป่าต้นน้ำลำธารจัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ มีขนาดพื้นที่กว่า 140,000 ไร่ โดยมีพื้นที่ที่โครงการหลวงหนองหอย ขอใช้เพื่อให้ราษฎรอยู่อาศัยทำการเกษตรประมาณ 2,000 ไร่

มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ใช้ที่ดินทำเกษตรกรรมทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งมีราษฎรเข้าร่วมโครงการหลวงประมาณ 600 กว่าราย มีพื้นที่กว่า 900 แปลง

แต่ปัจจุบันได้มีการแปรสภาพการใช้ประโยชน์ของที่ดินจากเกษตรกรรมเป็นธุรกิจที่พัก-รีสอร์ท 113 ราย โดยเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน 82 ราย และมีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 31 ราย เนื่องจากเข้าข่ายกระทำความผิดชัดเจน นำที่ดินไปใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงหนองหอย

เนื่องจากพื้นที่ม่อนแจ่ม ยังคงเป็นพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ รวมทั้งมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม เปลี่ยนมือเจ้าของ หรือขายกิจการให้นายทุนนอกพื้นที่ แต่ราษฎรที่ทำเกษตรกรรมในพื้นที่ตามโครงการหลวงฯ เดิมและไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติมจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้


พล.อ.วิทวัส กล่าวต่อว่า จากการประชุมหารือร่วมกันในวันนี้ ได้ข้อสรุปว่า ผู้ถือครอง 82 ราย เป็นผู้ถือครองรายเดิม เพียงแต่ใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ไปในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในพื้นที่โครงการหลวงฯ จะต้องยึดถือตามแนวทางเดิม คือ เกษตรกรรมพื้นที่สูง และต้องใช้พื้นที่ภายในกรอบกฎหมายของกรมป่าไม้

ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อเจรจากับประชาชนที่ใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ว่าจะมีแนวทางให้กลับมาทำตามวัตถุประสงค์เดิมได้อย่างไร

สำหรับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกิน ว่าราษฎรอยู่อาศัยมาก่อนประกาศเขตป่า 2507 หรือก่อนการประกาศให้โครงการหลวงฯ เข้ามาใช้พื้นที่ม่อนแจ่มนั้น ให้นำมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.2541 และมติคณะรัฐมนตรี 11 พ.ค.2542 ที่ให้นำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ 2545 มาใช้ในการพิสูจน์สิทธิการครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดิน

ดังนั้นจึงต้องอาศัยทั้งการอ่านภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศและการสำรวจรับรองแนวเขตเมื่อปี 2552 มาประกอบในการพิสูจน์สิทธิการทำประโยชน์ในแต่ละแปลง ซึ่งในชั้นนี้เชื่อว่า ราษฎรกลุ่มนี้ไม่น่าจะมีหลักฐานที่เชื่อว่าจะได้สิทธิ์ในที่ดินบริเวณนี้


ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะดังนี้

1.ให้จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ โครงการหลวงหนองหอย และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการบนพื้นที่ม่อนแจ่มเพื่อพัฒนาชุมชนและประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์

2.ให้ชุมชนม่อนแจ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนมาดำเนินการทั้งเกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่โครงการหลวงหนองหอย-ม่อนแจ่มให้ยั่งยืน


ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีหน้าที่เพียงแก้ปัญหาทางด้านกฎหมายเท่านั้น แต่มุ่งหวังที่จะเห็นประชาชนในพื้นที่ม่อนแจ่ม อาศัยอยู่กับธรรมชาติอย่างเหมาะสม โดยมีจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานในพื้นที่ เป็นกำลังสำคัญที่จะคอยช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

โดยเฉพาะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่นับเป็นข้อต่อสำคัญที่จะสื่อสารกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้มีความรู้ความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงและผสานความร่วมมือต่าง ๆ

ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึง 5 ข้อหลักใหญ่ คือ 1.มุ่งรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 2.มุ่งรักษาธรรมชาติป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ

3.คำนึงถึงรายได้ของประชาชนในพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินการตามแผนแม่บท 4.คณะทำงานที่จังหวัดแต่งตั้งต้องทำงานร่วมกับโครงการหลวงอย่างใกล้ชิด และ 5.ขอให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทด้วย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง