นักวิชาการชี้เลือกตั้ง อบจ. "คนเดิม" ได้เปรียบคะแนนนิยม

การเมือง
23 พ.ย. 63
13:15
568
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้เลือกตั้ง อบจ. "คนเดิม" ได้เปรียบคะแนนนิยม
รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สนามเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ. ว่าผู้สมัครที่เป็น นายกและสมาชิก อบจ.คนเดิมอาจได้เปรียบทางคะแนนนิยม ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่มีคนรุ่นใหม่ก็เป็นตัวชี้วัดเช่นกัน อย่างพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่

วันนี้ (23 พ.ย.2563) นางอรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยถึงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภา อบจ.ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ว่า สถานการณ์การเมืองภาพใหญ่ อาจทำให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นถูกลดกระแส แต่ต้องยอมรับว่าการเมืองภาพใหญ่นั้นน่าสนใจ ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่น่าสนใจที่มีการหาเสียงกันอย่างคึกคัก แต่ส่วนตัวเห็นว่าการติดโปสเตอร์หาเสียงยังน้อย สื่อมวลชนต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการกาบัตร 2 ใบ คือเตรียมพิจารณาเลือกนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.

ขณะเดียวกัน ยังวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิเพียงวันเดียว และวันหยุดไม่ตรงวันหยุดยาว อาจเป็นอุปสรรคให้ประชาชนไม่สามารถกลับไปใช้สิทธิที่ภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัดได้ ขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่นปีนี้เห็นปรากฏการณ์ชัดเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างการเมืองระดับชาติและการเมืองระดับท้องถิ่น เช่น ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา น้อยมากที่จะเห็นบทบาทของพรรคการเมืองกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนใหญ่ผ่านตัวผู้สมัคร โดยตระกูลการเมืองในพื้นที่ เป็นคนตระกูลเดียวกับนักการเมืองระดับชาติมาลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่น

มองมุมบวกคนพรรคเดียวกันชิงพื้นที่

ในปัจจุบัน จะเห็นพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวหน้า ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และยังเห็นคนในพรรคการเมืองเดียวกันแข่งขันระดับพื้นที่กันเอง ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดสีสันการหาเสียง ตราบใดที่ไม่ถึงขั้นคุกคามหรือทำร้าย ซึ่งหากมองมุมบวกจะเป็นทางเลือกให้ประชาชนตัดสินใจ

ส่วนผลการเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคต จะสะท้อนการเมืองระดับประเทศหรือไม่นั้น นางอรทัย ระบุว่า อย่างหนึ่งที่เห็นคือเรื่องปรากฏการณ์พรรคช่วยหาเสียง หรือคณะต่างๆ ส่งคนส่วนกลางไปช่วยหาเสียง หากมองแง่บวกเชิงวิชาการต้องการให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครระดับท้องถิ่น เพราะต้องการเห็นนโยบายการกระจายอำนาจเป็นนโยบายของพรรคการเมืองด้วย

หวังคัดสรรคนคุณภาพลงระดับท้องถิ่น

นางอรทัย กล่าวอีกว่า เชื่อว่าการกระจายอำนาจต้องทำต่อเนื่อง หากพรรคการเมืองเข้ามาและมีบทบาทนิติบัญญัติสามารถปรับเปลี่ยนกฎหมายกระจายอำนาจได้ จะเกิดกระแสการปรับเปลี่ยนการแก้กฎหมายอย่างจริงจัง และพรรคการเมืองจะคัดสรรบุคคลที่มีคุณภาพลงการเมืองท้องถิ่น และพรรคการเมืองจะรักษาวินัยการเมืองท้องถิ่นได้ อย่างการกระจายอำนาจในอังกฤษ

นอกจากนี้ เห็นว่าสนามเลือกตั้งที่น่าสนใจคือพื้นที่ที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อาจส่งผลต่อคะแนนการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน เชื่อว่านายก อบจ. และสมาชิกคนเดิมที่ทำหน้าที่มายาวนานถึง 7 ปี จะมีความได้เปรียบในการเลือกตั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง