THE EXIT: ไอ้ไข่ สะท้อนเศรษฐกิจที่พึ่งทางใจ

ภูมิภาค
1 ธ.ค. 63
19:51
963
Logo Thai PBS
THE EXIT: ไอ้ไข่ สะท้อนเศรษฐกิจที่พึ่งทางใจ
ตำนานไอ้ไข่ วัดเจดีย์ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ที่ถูกบอกต่อกันจนกลายเป็นกระแสความเชื่อ ส่งผลให้วัดหลายแห่งจัดสร้างไอ้ไข่ ในรูปแบบเฉพาะตัวเพื่อดึงดูดผู้คน ขณะที่บางส่วนมองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้ประชาชนต้องการที่พึ่งทางใจ

ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะสัปดาห์ก่อนวันประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างเช่น วันนี้บรรยา กาศที่วัดเจดีย์ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช จะเนืองแน่นไปด้วยรถ และผู้คนจำนวนมากเดินทางมาสักการะบูชาไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ บ้างขอโชคลาภ บ้างมาแก้บน

ครอบครัวนี้มาแก้บนด้วยรำกลองยาว หลังจากขอพรเรื่องหน้าที่การงาน และเชื่อว่าความสำเร็จจนี้เกิดขึ้นเพราะไอ้ไข่ดลบันดาลให้

 

ที่นี่ถูกจัดไว้เป็นสถานที่รองรับไก่ปูนปั้นสำหรับแก้บนจำนวนมหาศาล ทั้งกองประทัด และไก่ปูนปั้นที่เห็นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้บนเมื่อได้สิ่งที่ปรารถนา หรือเป็นการบนบานของพร จากไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์เทพกุมารที่โด่งดังในเวลานี้

ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก็ได้ดั่งใจจึงมาแก้บน

ภายในอุโบสถ เป็นที่ตั้งของไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ องค์ปัจจุบัน แกะสลักจากไม้ตะเคียนคู่ ตั้งแต่ปี 2525 โดยฝีมือของนายเที่ยง เมืองอินทร์ หรือ ทวดเที่ยง หักเหล็ก ปูชนียบุคคลของท้องถิ่น ผู้มีฝีมือด้านศิลปะและวิชาอาคม ที่มีรูปเหมือนตั้งให้สักการะเคียงกัน

 

การขยายบอกต่อเรื่องราวน่าอัศจรรย์ได้สร้างกระแสความเชื่อให้ผู้คนเดินทางมาขอพระอย่างไม่ขาดสาย เพื่อหวังให้ไอ้ไข่ดลบันดาลให้ประสบผลสำเต็จ และเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ประสบปัญหาให้คลี่คลาย

ไม่มีพระสงฆ์ไหนที่จะมาให้การยืนยันว่าศักดิ์สิทธิ์จริงต้องได้ 100% แต่ชาวบ้าน มาด้วยความเชื่อส่วนตัว และหลังจากที่เขามีความเชื่อแล้ว ต้องจัดเข้าระบบ หมายถึงการจัดที่นั่ง ที่พัก การกราบไหว้รองรับ

 

20 ปีมานี้ วัดเจดีย์มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากความเชื่อและศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จากเนื้อที่เพียง 10 ไร่เพิ่มเป็นกว่า 200 ไร่เพื่อรองรับผู้ศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศ จนกลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางสังคม ทุกวันนี้ พบว่ามีหลายวัดทั่วประเทศสร้างรูปบูชาไอ้ไข่ในรูปแบบเฉพาะตัวเพื่อดึงดูดผู้คน

นายจำรัส เพชรทับ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการเราปฎิเสธอะไรใดๆในโลกนี้ไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะมีหลายสิ่งเหนือสิ่งที่รับรู้ และปรากฏขึ้นในโอกาสต่างๆ

กว่าจะเกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้นมาต้องใช้เวลา และมีสิ่งที่เป็นจริงและผิดจากวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ไม่ได้ อาจจะบูมสุดและลดลงได้แต่ความเป็นฐานของประวัติและมรดกชุมชนยังรักษาไว้ได้ 

 

18 ต.ค.2563 วัดวิเวกวายุพัดพระอารามหลวง อ.บางปะอิน จ.อยุธยา จัดพิธีเทวาภิเษก ไอ้ไข่เด็กวัดอยุธยา โดยมีองค์บูชาไอ้ไข่เด็กวัดอยุธยารูปหล่อเนื้อโลหะความสูง 1 เมตร 40 เซนติเมตร จำนวน 2 องค์ เป็นแกนหลักเพื่อตั้งให้ผู้คนมากราบไหว้บูชาที่นี่

นายช่วง นะบารมี  อาจารย์เจ้าพิธีปลุกเสกไอ้ไข่เด็กวัดอยุธยา วัดวิเวกวายุพัด อ.บางปะอินอาจารย์เจ้าพีธีปลุกเสกให้ข้อมูลว่า การหล่อโลหะองค์บูชาไอ้ไข่เด็กวัดอยุธยาครั้งนี้นำรูปแบบมาจากวัดทับไทร จ.จันทบุรี สำหรับตั้งให้ผู้คนได้กราบไหว้ ขอพรที่วัดวิเวกวายุดพระอารามหลวง 1 องค์และอีกหนึ่งองค์นำไปตั้งที่สำนักส่วนตัว

กระแสมาดี คนอยากได้ไว้บูชาประวัติพี่ไข่ไม่แน่นอน แตกต่างกัน แต่เท่าที่รู้มาหลวงปู่ทวดเดินธุดงค์มาจากปัตตานีมาถึงพระนครศรีอยุธยาและมาจมน้ำตาย

 

จนถึงวันนี้ วัตถุมงคลไอ้ไข่เด็กวัดอยุธยารุ่นโคตรเศรษฐี สร้างรายได้จากการให้เช่าบูชาเพื่อมอบเงินให้วัดนำไปบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ วิหาร และเมรุ แล้วรวมกว่า 1 ล้านบาท

น.ส.อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยา กล่าว ไอ้ไข่อาจจะไม่มีวันตาย แต่จะเปลื้องเสื้อผ้าของความเป็นเด็กกุมาร มีการปรุงแต่งความเชื่อขึ้นใหม่ๆ แต่มีแก่นกลางคือการเป็นที่พึ่งของคนที่สัมพันธ์กับธรรมชาติที่เรียกว่าศาสนา

 

ปัจจุบันเรื่องราวไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ กับวลี ขอได้ไหว้รับกลายเป็นกระแสความเชื่อและความศรัทธา ที่ส่งผลให้หลายวัดสร้างรูปบูชา หวังดึงดูดศาสนิกชนเข้าวัดเป้าหมายเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงไอ้ไข่ได้ง่ายขึ้น เพื่อจุดประสงค์ในการหารายได้บูรณะวัดจากการทำบุญบริจาคและสร้างอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับวัด

ขณะที่ บางส่วนมองว่า กระแสนิยมไอ้ไข่เกี่ยวโยงกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องการที่พึ่งทางใจ และมีความหวังที่จะผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง