THE EXIT : ถกปมกำหนดอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ทำแท้งได้

สังคม
7 ธ.ค. 63
19:40
3,392
Logo Thai PBS
THE EXIT : ถกปมกำหนดอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ทำแท้งได้
ยังคงมีข้อถกเถียงกรณีการกำหนดอายุครรภ์ที่ 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้เหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการไม่ยกเลิกบทลงโทษหญิงที่ยุติการตั้งครรภ์

โรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในจำนวนไม่มากนักต่อวัน และรับนัดเฉพาะวันที่นพ.วรชาติ มีวาสนา ทำงานเท่านั้น เนื่องจากเป็นหมอสูตินรีฯ เพียงคนเดียวที่ให้บริการนี้

ผู้ขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์ซึ่งเดินทางมายังโรงพยาบาลพิมายส่วนใหญ่ถูกส่งต่อมาจากสายด่วน 1663 และเครือข่ายแพทย์อาสา RSA ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่นี่เป็นสถานพยาบาลหนึ่งในสองแห่งที่รับอายุครรภ์ถึง 24 สัปดาห์ ซึ่งถือว่ามากที่สุด

 

ผู้รับบริการทุกคนต้องผ่านการทำแบบประเมินก่อนเพื่อตรวจสอบว่าอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยคำนึงถึงกฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา หากผ่านการประเมินจากแบบทดสอบ และการคัดกรองด้านสุขภาพ ผู้รับบริการจะเข้าสู่ขั้นตอนอัลตราซาวน์เพื่อตรวจสอบอายุครรภ์ที่แน่นอน

เมื่ออายุครรภ์อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ นพ.วรชาติจึงยินยอมให้บริการยุติการตั้งครรภ์ โดยการใช้ยาเมตาบอน ทุกคนต้องฝังเข็มคุมกำเนิดนี่เป็นข้อตกลงหนึ่งสำหรับผู้ที่มาใช้บริการที่นี่ จากนั้นพยาบาลจะแนะนำวิธีการใช้ยาเมตาบอนพร้อมกับอธิบายทุกข้อสงสัย

 

คณะรัฐมนตรีรับร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 จากเดิมที่ระบุว่า
"หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

เป็น "หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ซึ่งเกณฑ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ที่คณะกรรมการกฤษฎีกานำมาใช้ มาจากความเห็นของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นสำคัญ

 

นพ.วรชาติ มองว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาให้น้ำหนักกับความเห็นของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯมากกว่าแพทย์อาสาจาก RSA ซึ่งให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยตรง

วันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กลุ่มทำทาง สายให้คำปรึกษา 1663 และองค์กรกองทุนเพื่อการทำแท้งที่ปลอดภัย เข้ายื่นหนังสือต่อประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ทักท้วงข้อเสนอกำหนดเพดานอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลว่าการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสามารถทำได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์

 

จากสถิติผู้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยในปี 2561 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ผู้หญิงที่เข้ารับบริการในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์มีจำนวนร้อยละ 26 ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงมองว่า การระบุในกฎหมายว่าให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์จะผลักดันให้ผู้ที่มีอายุครรภ์มากกว่าที่กำหนดหันไปพึ่งคลินิกเถื่อน หรือ ซื้อยาจากแหล่งไม่น่าเชื่อถือ เพราะเกรงว่าจะถูกลงโทษตามกฎหมาย

 

ด้าน รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ยืนยันว่า ต้องยกเลิกมาตรา 301 ซึ่งลงโทษผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยแล้วว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เรื่องชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันและมาตรา 28 เรื่องเสรีภาพในชีวิตร่างกาย

 

ขณะเดียวกัน ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ยังระบุว่าการทำแท้งเสรีไม่มีอยู่จริงเพราะไม่มีผู้หญิงคนใดต้องการตั้งครรภ์เพื่อไปทำแท้ง และประเทศต่าง ๆ ล้วนมีกฎหมายและข้อบังคับกำหนดว่าผู้หญิงจะยุติการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขใดได้บ้างที่แตกต่างกัน

 

ขณะนี้ คณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎร กำลังส่งร่างกฎหมายฯ เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ 1 ปี หากไม่แก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 301 ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะส่งผลให้บังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ไม่ได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง