เปิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ว่าด้วย "อำนาจ" สถาบันและการเมือง

การเมือง
9 ธ.ค. 63
11:00
8,386
Logo Thai PBS
เปิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ว่าด้วย "อำนาจ" สถาบันและการเมือง
88 ปีนับตั้งแต่ ประกาศใช้ รธน.ฉบับแรกที่ใช้คำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย และตามมาด้วย รธน.แห่งราชอาณาจักรสยาม ที่ ร.7 โปรดเกล้าฯ ในวันที่ 10 ธ.ค. ปี 2475 ถึงวันนี้โครงสร้าง “อำนาจ” ทางการเมืองปรับเปลี่ยนขนาดไหน ชวนย้อนพิจารณาถึง รธน.ยุคเริ่มแรกในวันนั้น

ไทยพีบีเอส ตั้งต้นพิจารณาข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เริ่มจากบทความ ศ.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ที่ตั้งข้อสังเกต โครงสร้างอำนาจของรัฐธรรมนูญไทย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่คณะราษฎรทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ร.7 หลังการปฏิวัติเพียง 3 วัน ซึ่ง ศ.นันทวัฒน์ ตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็น คือ 1.อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และ 2.อำนาจของประชาชน

ทั้งเมื่อพิจารณาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลง “รูปแบบ” การปกครองสำเร็จ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ” (Constitution)

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิ.ย. ปี 2475 ได้ 3 วัน วันที่ 27 มิ.ย. คณะราษฎรได้นำร่าง “พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475” ซึ่งร่างโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็ตจพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7 เพื่อลงพระปรมาภิไธย 

 

แต่ ร.7 ขอให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ไปพลางก่อน และมีคำสั่ง 1.ให้เติมคำว่า “ชั่วคราว” ในร่าง พ.ร.บ.นี้ และ 2.ให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาร่าง พ.ร.บ.ฉบับถาวร ต่อมาคือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักสยาม พ.ศ.2475 ลงวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ.2475”

อ่านเพิ่ม บทความโดย ศ.นันทวัฒน์ บรมานันท์ เผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net

รธน.ฉบับชั่วคราว 2475

ศ.นันทวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็น คือ 1.พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 เป็นการ “จำกัดอำนาจกษัตริย์” โดยมีการยกตัวอย่างจากข้อมูลหลายด้าน แต่ที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับแรกโดยตรง อาทิ

 

มาตรา 6 ให้อำนาจ “ตัวแทนประชาชน” วินิจฉัยการกระทำผิดทางอาญาของพระมหากษัตริย์ “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย”

มาตรา 7 กำหนดให้การกระทำต่างๆ ของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามข้อความบางช่วงใน มาตรา 7 “...ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”

มาตราอื่น ๆ ที่ห้ามการกระทำของพระมหากษัตริย์ เช่น มาตรา 8 ยับยั้งกฎหมายทำไม่ได้ และ มาตรา 35 การถอดถอนเสนาบดีทำไม่ได้ เว้นได้รับคำแนะนำจาก คณะกรรมการราษฎร

ผู้เขียน – ข้อมูลเพิ่มเติม หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 กำหนดให้ คณะราษฎร มีอำนาจแต่งตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (70 คน) ทำหน้าที่ 6 เดือน จากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะคัดเลือก “ราษฎร” ในแต่ละจังหวัดเข้ามาทำหน้าที่ในสภาฯ ซึ่งสภาฯ จะทำหน้าที่คัดเลือก “คณะกรรมการราษฎร” ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรยุคนั้นมีอำนาจมาก เพราะทำหน้าที่ ฝ่ายนิติบัญญัติ และคุม ฝ่ายบริหาร

2. พ.ร.บ.ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ให้อำนาจแก่ประชาชน เช่น การตั้งสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ อาทิ มาตรา 6 สภาฯ มีอำนาจวินิจฉัยคดีอาญาของพระมหากษัตริย์ และ มาตรา 10 สภาฯ ถอดถอน คณะกรรมการราษฎร หรือ พนักงานรัฐบาล ได้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการตั้ง คณะกรรมการราษฎร ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร เช่น มาตรา 5 มีอำนาจชิสิทธิแทนพระมหาษัตริย์ (สำเร็จราชการแทนพระองค์) มาตรา 7 ให้ความยินยอมการกระทำใดๆ ของพระมหาษัตริย์ และมาตรา 30 มีอำนาจให้อภัยโทษ ฯลฯ

ปรับอำนาจ "สภา"

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ รธน.ราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในหลายประเด็น ซึ่ง ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. ตั้งข้อสังเกตผ่านงานวิชาการ ระบุว่าข้อสังเกตการเปลี่ยนผ่าน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ.2475 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ไว้ 3 ข้อ

 

1. สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจลดลง เพราะสภาฯ จะถูกยุบโดยพระราชอำนาจ ด้วยการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน นอกจากนั้นการประชุมสมัยวิสามัญจะเกิดขึ้นเมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ

สภาฯ มีอำนาจในการตรา พ.ร.บ. และพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี และควบคุมฝ่ายบริหารโดยการตั้งกระทู้ถาม และมีมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรายบุคคล รวมถึงมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อทำกิจการหรือสอบสวนข้อความต่างๆ แต่ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบการทำงานของสภาฯ

2.ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ครม.มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาฯ ครม.บริหารราชการโดยได้รับความไว้วางใจจากสภา และสิ้นสุดเมื่อสภาฯ ลงมติไม่ไว้วางใจ

ครม. มีอำนาจในการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และกราบบังคมทูลขอให้พระมหากษัตริย์ตรา พ.ร.ฎ.โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้ง พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ

3.พระมหากษัตริย์ทรงได้รับพระราชอำนาจคืนมากขึ้น คือ ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ว่าทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และ มาตรา 4 ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม

รวมถึงเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภาฯ ทรงใช้อำนาจบริหารทาง ครม. และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล อันเป็นการแบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ทาง ขณะที่ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับแรก แบ่งอำนาจเป็น 4 ทาง และยกฐานะให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นอยู่เหนือการเมือง

อ่านเพิ่ม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 ฐานข้อมูลการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

 

ข้อมูลทั้งหมดข้างต้น คือสาระสำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญตั้งแต่หลังปี 2475 โดยมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ขณะที่ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้รายละเอียดกับการพระราชทานรัฐรรมนูญในวันที่ 10 ธ.ค. ปี 2475

“เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 คณะบุคคลซึ่งเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยพระราช ดำริที่ทรงต้องการเปลี่ยนแปลง การปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้วกอปรกับไม่ต้องการให้คนไทย ประหัตประหาร กันเองจึงทรงยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ รัฐธรรมนูญพระองค์แรก ทรงพระราชทานรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง