เปิดหลักฐานพระราชวังล้านนา “คุ้มเวียงแก้ว” เชียงใหม่

ภูมิภาค
22 ม.ค. 64
14:29
30,689
Logo Thai PBS
เปิดหลักฐานพระราชวังล้านนา “คุ้มเวียงแก้ว” เชียงใหม่
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยผลการขุดค้นทางโบราณคดีคุ้มเวียงแก้ว พระราชวังโบราณของอาณาจักรล้านนากลางเมืองเชียงใหม่ พบโบราณวัตถุหลายชิ้นสมัยราชวงศ์ของจีนเชื่อมโยงล้านนายุคต้น

วันนี้ (22 ม.ค.2564) ที่จ.เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ 7 (เชียงใหม่) นำนักประวัติศาสตร์ และเครือข่ายชุมชนเชียงใหม่ เข้าชม และรายงานผลความคืบหน้าการขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญที่ขุดพบในคุ้มเวียงแก้ว พระราชวังโบราณของอาณาจักรล้านนากลางเมืองเชียงใหม่ พบโบราณวัตถุหลายชิ้นสมัยราชวงศ์ของจีนเชื่อมโยงล้านนายุคต้น

นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7( เชียงใหม่) เปิดเผยว่า การขุดค้นล่าสุด มีความคืบหน้าไปแล้ว ร้อยละ 95 ผลการขุดค้นพบโบราณสถานที่สำคัญเชื่อมโยงกับเมืองเชียงใหม่ และล้านนา เช่น โบราณสถานกำแพงเวียงแก้ว, กลุ่มโบราณสถานภายในคุ้ม และโบราณวัตถุอีกจำนวนหลายชิ้น เป็นเครื่องปั่นดินเผาที่พบในทุกยุคสมัยร่วมกับล้านนา

โบราณสถานกำแพงเวียงแก้ว เป็นอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 101 เมตร 159 เมตร วางตัวแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก ตัวโบราณสถานก่ออิฐขนาดค่อนข้างใหญ่ มีขนาดว้าง 17-20 เซนติเมตร หนา 6-8 เซนติเมตร

 

โบราณสถานภายในเวียงแก้ว หลักฐานที่พบภายในกำแพงแก้วทั้งหมดเป็นส่วนฐานรากก่ออิฐ โบราณสถานที่พบแบ่งได้ 7 กลุ่ม ที่สำคัญสุด คือ กลุ่มโบราณสถานบริเวณศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก โบราณสถานทิศเหนือด้านตึกบัญชาการ, กลุ่มโบราณสถานแนวถนนทิศตะวันออกแนวกำแพงทัณฑสถานเดิม

 

นอกจากนั้นยังขุดค้นพบ เศษภาชนะดินเผาเครื่องถ้วยล้านนา กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20- 22 เป็นเตาเผาจากกลุ่ม เวียงกาหลง, เตาสันกำแพง, เตาพาน, เตาวังหนือ, เตาพะเยา และเตาศรีสัชนาลัย

 

และยังพบเศษชินส่วนเครื่องปั่นดินเผาจากต่างประเทศที่กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-22 ได้แก่ เครื่องถ้วยจากเตาจิ่งเต่อเจิ้น สมัยราชวงหยวน (พุทธศตวรรษที่ 19 ) เครื่องถ้วยเวียดนามสมัย ตรัน-โห(พุทธศตวรรษที่ 20) เครื่องถ้วยแหล่งเตาจิ้งเต๋อ ประเทศจีน (พุทธศตวรรษที่ 21) เครื่องถ้วยเวียดนาม (พุทธศตวรรษที่ 21) และเครื่องถ้วยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ 22)

 

นักโบราณคดีชำนาญการกล่าวว่า หลักฐานที่พบทั้งหมด โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจากเตาจิ่งเต่อเจิ้น สมัยราชวงหยวน เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ เพราะตรงสมัยกับยุคต้นของล้านนาสมัยพญามังราย เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการสร้างพระราชวัง หรือคุ้มเวียงแก้วถึงการมีอยู่จริงของพระราชวัง ส่วนหลักฐานที่ขุดค้นต่างๆเช่น อิฐที่พบในแต่ละจุดกำลังส่งตรวจเพื่อบ่งบอกถึงอายุและช่วงสมัยของคุ้มเวียงแก้วที่มีการก่อสร้างต่อเติมในหลายช่วง

 

ด้านเพ็ญสุภา สุขคตะ นักประวิติศาสตร์ล้านนาอิสระ มองว่า การขุดค้นครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปิดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ล้านนา เพราะโบราณสถานที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เห็นก่อสร้างยุคหลังถึงร้อยละ 95 การขุดค้นครั้งนี้จึงเป็นเปิดหลักฐานที่มีอยู่จริงที่คลี่คลายการสร้างเมืองประวัติศาสตร์บางช่วงของล้านนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"คุ้มเวียงแก้ว" ความสำคัญในอดีต สู่การใช้พื้นที่ขนาดใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง