จากทีวีจานดำถึงไลฟ์โซเชียล ชวนเชื่อซื้อ "ถั่งเช่า" อ้างสรรพคุณร้อยแปด

สังคม
9 ก.พ. 64
10:15
826
Logo Thai PBS
จากทีวีจานดำถึงไลฟ์โซเชียล ชวนเชื่อซื้อ "ถั่งเช่า" อ้างสรรพคุณร้อยแปด
อาหารเสริม "กาละแมร์" ถั่งเช่า "ยิ่งยง" จุดประเด็นสังคมวิพากษ์โฆษณาเกินจริงในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หากนึกย้อนไปกลับพบว่าโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้แทรกซึมในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่ยุคทีวีดาวเทียมสู่ไลฟ์โซเชียล แม้จะมีการเอาผิดในแต่ละปีนับพันคดี

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักร้อง นักแสดง และบุคคลมีชื่อเสียงต่างถูกดำเนินคดีข้อหาโฆษณาสินค้าไม่เป็นตามกฎหมายกำหนด หรือ โฆษณาเกินจริง สำหรับคดีล่าสุด น.ส.พัชรศรี เบญจมาศ หรือ กาละแมร์ เดินทางไปเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ ปคบ. ช่วงค่ำวานนี้ (8 ก.พ.2564) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการอ้างสรรพคุณป้องกัน COVID-19 และเชื้อหายไปได้ รวมทั้งรับประทานแล้วมะเร็งระยะ 2 หาย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก

ส่วน นายยิ่งยง ยอดบัวงาม นักร้องลูกทุ่งชื่อดังที่โฆษณาอาหารเสริมผสมถั่งเช่าก็ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ปรับ 50,000 บาท ฐานร่วมกันโฆษณาคุณประโยชน์อาหารเป็นเท็จ แต่นายยิ่งยงรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 25,000 บาท ซึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษโดยมีกำหนด 1 ปี

หากนึกย้อนไปตั้งแต่สมัยทีวีจอหนา วิทยุสายตามสาย จนมาถึงทีวีดิจิทัล และยุคเฟซบุ๊ก ไอจี โฆษณาสินค้าต่าง ๆ แทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างไม่ขาดสาย โฆษณาบางชิ้นฉายวนไปจนท่องบทได้ บางชิ้นที่ถูกพูดถึงมาก ๆ คงหนีไม่พ้นโฆษณาชวน (ซื้อ) เชื่อจากบุคคลมีชื่อเสียง ดารา นักร้องชื่อดัง


นอกจากความน่าเชื่อถือของพรีเซนเตอร์แล้ว โฆษณาเหล่านี้ยังมีตัวอย่างของผู้ใช้ (จริง) มาบอกเล่าสรรพคุณเช้า - เย็นอยู่เสมอ ไม่ต้องไปถามที่ไหนไกล ถามคนในบ้านหรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานต่างเคยมีประสบการณ์พ่อแม่ ลุงป้า ปู่ย่า สั่งซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านโฆษณาทั้งสิ้น ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมและพูดถึงในปัจจุบันนั้น ต้องยกให้กลุ่มอาหารเสริมบำรุงร่างกาย สรรพคุณรักษา ลดอาการ แก้โรค คลายปวด อาการหลักของคนสูงอายุ

1 ปี อย.จับโฆษณาเกินจริงนับพันคดี

ที่ผ่านมา โฆษณาอาหารเสริมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด การตรวจสอบจึงอาจทำได้น้อย โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ที่ใครก็สามารถโฆษณาหรือรีวิวสินค้าได้ ไม่ต้องผ่านสื่อหลัก เพียงแค่มีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ต ส่วนคนทั่วไปก็เข้าถึงได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ทำให้เกิดการโฆษณาผ่านออนไลน์โดยไม่ได้ขออนุญาตคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวนมาก ขณะเดียวกันการไม่ขออนุญาตโฆษณาตามพระราชบัญญัติอาหาร ที่มีมาตั้งแต่ปี 2522 กำหนดโทษต่ำปรับเพียง 5,000 บาท เทียบไม่ได้กับรายได้จากการรีวิวสินค้า


อย่างไรก็ตาม อย. และ กสทช.ก็ได้พยายามดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง โดย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย.ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และสุขภาพประเภทอื่น ๆ ทางสื่อ จำนวน 1,388 คดี

ทั้งนี้ อย.จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิด และดำเนินคดีกับผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือผู้ทำโฆษณา ส่วน กสทช.จะดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศ ตั้งแต่ปี 2561- 2563 อย.ได้วินิจฉัยความผิดและส่งให้ กสทช. 250 เรื่อง เป็นโฆษณาถั่งเช่า 58 เรื่อง

ผู้โฆษณามักรู้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำภาพผู้ป่วยมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และโฆษณาโดยอวดอ้างเกินจริง ทั้งกรณีถั่งเช่า และกรณีกาละแมร์ ยืนยันว่า อาหารเสริมไม่ใช่ยา รักษาโรคไม่ได้ แต่โฆษณาบอกว่า กินแล้วหาย แก้ปวด ลดปวด คลายปวด หรืออวดอ้างสรรพคุณสารประกอบ ถือว่าโอ้อวดเกินกว่า จะเป็นอาหารเสริม


ทั้งนี้ ภญ.สุภัทรา ระบุว่า ปัจจุบันทุกคนเป็นเจ้าของสื่อได้หมด ช่องทางการโฆษณาก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ซึ่ง อย.ได้ร่วมมือกับ กสทช.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดย อย.กำหนดโทษทางอาญา

ส่วน กสทช.เปรียบเทียบปรับสูง แต่การรีวิวหรือโฆษณาสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ ในอนาคต อย.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดีอีเอส เพื่อขยายขอบข่ายการจัดการดูแลต่อไป

 

"ถั่งเช่า" สรรพคุณครอบจักรวาล?

กรณีโฆษณาอาหารเสริมผสมถั่งเช่า หากฟังสรรพคุณในทีวีแล้ว "ถั่งเช่า" นับว่าเป็นสมุนไพรจีนสารพัดนึก แต่แพทย์จีนวิษณุสรรค์ สุฉันทบุตร แพทย์แผนจีน ให้คำตอบกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ถั่งเช่า คือ ตงฉงเซี่ยฉ่าว เป็นสมุนไพรจีนจากทิเบต แต่ปัจจุบันคนจะสับสนกับอีกตัวคือ "เห็ดถั่งเช่าสีทอง" ที่นำมาเพาะเลี้ยง ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยที่รองรับเพียงพอว่า สารประกอบสำคัญและสรรพคุณนั้นสามารถเทียบเท่ากับเห็ดถั่งเช่าทิเบตตามธรรมชาติได้หรือไม่

เห็ดถั่งเช่าสีทอง ถ้ารับประทานในปริมาณสูง จะเป็นพิษต่อตับและไต ขณะที่ เห็ดถั่งเช่าทิเบต มีการศึกษาเพียงพอ และไม่มีงานวิจัยที่บอกว่า เป็นพิษต่อตับและไต ยกเว้นปนเปื้อนของโลหะสูงเท่านั้น


ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่จะใส่เห็ดถั่งเช่าสีทองแทน เนื่องจากเห็ดถั่งเช่าทิเบตธรรมชาติ ราคาสูง กรัมละ 1,200 บาท กิโลกรัมละ 1-2 ล้านบาท ทำให้ความนิยมเลือกใช้ แม้แต่ในคลินิกแพทย์แผนจีนก็ค่อนข้างน้อย ซึ่งแพทย์บางส่วนจะเลือกใช้สมุนไพรอื่นที่มีสรรพคุณทดแทนกันได้โดยมีราคาถูกกว่า เช่น ตุ๊กแก ตู้จ้ง ทู่ซือจึ และเมล็ดกุยช่าย

สรรพคุณจะแตกต่างกัน และที่อ้างว่าสรรพคุณครอบจักรวาลต้องบอกว่าไม่จริง เพราะขนาดถั่งเช่าทิเบตธรรมชาติเอง ก็ยังไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค

แพทย์จีนวิษณุสรรค์ ยังระบุอีกว่า สำหรับอาหารเสริมที่ผสมถั่งเช่าโดยทั่วไปที่พบในปัจจุบันอาจมีการผสมสารต่าง ๆ หรือวิตามินอื่น ๆ เช่น วิตามินบี หรือ โสมเกาหลี อาจจมีผู้ป่วยรับประทานแล้วอาการดีขึ้น แต่เกิดจากสารหรือวิตามินที่เพิ่มเข้ามา ไม่ได้อาการดีขึ้นจากถั่งเช่า เนื่องจากใส่ส่วนผสมในปริมาณที่น้อย เพราะราคาแพง สัดส่วนที่แจ้งไว้อาจไม่สามารถเป็นไปได้ที่จะขายในราคาตามท้องตลาด


หลังจากนี้ อาจต้องจับตาการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลโฆษณาอย่างจริงจังมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนอาจต้องป้องกันตัวเอง พิจารณาหาข้อมูลเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์แหล่งรวบรวมข้อมูล และความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพจาก อย. หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขณะเดียวกันในยุคที่ประชาชนเริ่มเท่าทันสื่อ อาจถึงเวลาที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องขายสินค้าอย่างมีจริยธรรมมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง