WHO หนุนไทยปรับขึ้นภาษีความหวาน ลดป่วยโรค NCDs

สังคม
8 มี.ค. 64
12:13
778
Logo Thai PBS
WHO หนุนไทยปรับขึ้นภาษีความหวาน ลดป่วยโรค NCDs
สสส.ชวนคนไทยบริโภคหวานน้อยลง หลังแพทย์เตือนคนไทยป่วยโรค NCDs โดยรัฐจ่ายค่ารักษาไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาท/ปี ด้าน WHO หนุนปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลตามกรอบเวลาเดิม กระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับสูตรลดน้ำตาล

วันนี้ (8 มี.ค.2564) ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในทางการแพทย์พบว่า การบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากเสี่ยงเป็นโรคไขมันพอกตับสูง เพราะน้ำตาลที่ค้างในร่างกายจะแปรสภาพเป็นไขมันเกาะตามกล้ามเนื้อและตับทำให้อ้วนลงพุง หากปล่อยไว้นานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ อักเสบเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดโรค คือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอันดับ 2 คือ บริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็น


น้ำตาล มีส่วนทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) เช่น มะเร็งตับ ไขมันเกาะตับ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ไขมันอุดตันในหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน และโรคอ้วน ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย รัฐบาลต้องใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาทต่อปี จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้ปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุก ๆ 2 ปี


อีกไม่กี่เดือนจะถึงเวลาต้องปรับภาษีเพิ่มอีก เสนอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ควรชะลอ เพราะหากควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มได้จะช่วยลดปัญหาคนป่วยได้ส่วนหนึ่ง และที่ผ่านมาได้ให้เวลาผู้ประกอบการเครื่องดื่มปรับสูตรลดน้ำตาลในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์มา 4 ปีแล้ว การเดินหน้าเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มปรับตัว เพราะถ้าลดปริมาณน้ำตาลที่ผสมในเครื่องดื่มลงได้ก็จะไม่ต้องเสียภาษีมาก คนไทยก็จะได้บริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยลง

ขึ้นภาษีความหวานเห็นผล คนไทยบริโภคลดลง

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ผู้ทรงคุณวุฒิและรักษาการผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2560 โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มผง (3in1) และเครื่องดื่มเข้มข้นตามปริมาณน้ำตาล โดยจัดเก็บเป็นระบบขั้นบันได และปรับเพิ่มขึ้นทุก ๆ 2 ปี ให้ได้ตามเกณฑ์แนะนำที่ 6% ในปี 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบเครื่องดื่มในภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป


จากการศึกษาปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ดื่มเฉลี่ยต่อวันในกลุ่มประชากรไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบกลุ่มตัวอย่างมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลงจาก 283.6 มิลลิลิตร ในปี 2561 เป็น 275.8 มิลลิลิตรในปี 2562 หรือลดลงร้อยละ 2.8 โดยกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีการบริโภคลดลงสูงสุด ร้อยละ 7.2


ขณะที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม พบปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปี 2555-2562 ว่าระหว่างปี พ.ศ.2551-2560 คนไทยบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น แต่หลังการบังคับใช้เรื่องภาษี พบคนไทยบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 15.3 ในปี 2561 และร้อยละ 14 ในปี 2562

คนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 6 ช้อน เสี่ยงป่วยโรค NCDs

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โรคที่เกิดขึ้นกับคนไทย 2 ใน 3 ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินหวานที่ล้นเกิน โดยบริโภคน้ำตาลมากกว่า 6 ช้อนชาต่อวัน เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) ผลสำรวจพบว่า ร้ายแรงกว่า COVID-19 กว่า 5 เท่า เพราะพบคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs เฉลี่ยวันละ 1,000 คนต่อวัน


ขณะที่ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการกินของคนไทย โดย ThaiHealthWatch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2563 พบ คนไทยนิยมกินอาหารรสหวานจัด หรือ มีปริมาณน้ำตาลมาก เช่น เครื่องดื่มชา/กาแฟ น้ำหวาน เมื่อร่างกายรับเข้าไปในปริมาณมากจะมีผลกระทบกับหลอดเลือด หัวใจ และไต

ดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ฟันผุ เป็นที่ทราบกันดีกว่ามาตรการทางภาษีนั้นช่วยลดการบริโภคสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลได้


ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดปรับอัตราภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพิ่มแบบขั้นบันได จึงขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีตามที่กำหนดไว้ เพราะการลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษียังสะท้อนชัดไปถึงประชาชนว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง