The EXIT : เปิดโปงทุจริตถนนยางพารา

Logo Thai PBS
The EXIT : เปิดโปงทุจริตถนนยางพารา
ผู้รับเหมาในภาคอีสาน ร้องเรียนไทยพีบีเอส ว่ามีปลัดเทศบาลคนหนึ่ง เรียกรับเงิน แลกกับโควต้าโครงการก่อสร้างถนนยางพารา เมื่อปี 2562 แต่เมื่อจ่ายเงินไปเกือบ 40 ล้านบาท แต่ได้งานไม่ครบ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาจเคยได้ยินชื่อ "ถนนยางพารา" มากขึ้น นอกจากทำให้ถนนมีความทนทาน อีกด้านยังส่งผลให้น้ำยางพาราให้ประเทศมีตลาดและมูลค่าเพิ่มขึ้นไปด้วย

คาดว่าในอีกไม่กี่ปี จะมีถนนที่ใช้ส่วนผสมของยางพาราในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ในเรื่องดีกลับมีคนกลุ่มหนึ่ง มีพฤติกรรมในลักษณะล็อกโควต้าโครงการ เพื่อเรียกรับเงินจากผู้รับเหมา หรือที่เรียกกันว่า “ค่าขนม”

 

ผู้รับเหมารายหนึ่งในภาคอีสานเปิดเผยว่า จุดเริ่มของการเข้ามารับงาน เริ่มจากได้รับการติดต่อจากคนรู้จัก ให้รู้จักกับปลัดเทศบาลตำบล ใน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งขณะนี้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเดียวกัน ในพื้นที่ปริมณฑล อ้างว่าสามารถจัดสรรโค้วต้าโครงการก่อสร้าง ปรับปรุงถนนด้วยยางพาราได้

หลังจากนั้น ผู้บริหารเทศบาลคนที่ถูกกล่าวอ้าง ส่งรายละเอียดโครงการต่าง ๆ ผ่านทางไลน์ เพื่อเชิญชวนเข้าไปเป็นคู่สัญญา ในลักษณะ E-Bidding หลังผู้รับเหมาตกลงร่วมงาน พบว่าในช่วงแรกได้รับโครงการก่อสร้างถนนยางพาราจริง


ปลัดบอกว่า เงินที่เรียกเก็บจะแบ่งให้นาย ร้อยละ 10 และตนเองได้เพียงร้อยละ 3 และผู้ประสานงานอีกร้อยละ 2


ลักษณะของการเรียกรับ “ค่าขนม” ผู้ประกอบการให้ข้อมูลว่า ปลัดเทศบาลตำบล ได้ชี้แจงส่วนแบ่ง ซึ่งสัดส่วนที่มากที่สุด อยู่ที่ "นาย" หรือผู้ที่สามารถจัดสรรโครงการมาให้ได้

โดยข้อตกลงคือผู้รับเหมาต้องจ่ายค่าดำเนินการล่วงหน้า ร้อยละ 12-15 ของเงินงบประมาณ เพื่อแรกกับการได้รับงานโครงการสร้างความมั่นใจว่า ปลัดเทศบาลตำบลอ้างว่า หากไม่ได้งานโครงการฯ เงินค่า “ค่าขนม” 12-15 % จะส่งคืนทั้งหมด

 

เช็คเงินสดที่ให้มาทั้ง 4 ใบ ที่ปลัดฯ เขียนค้ำประกันมาให้ ไม่สามารถนำไปขึ้นเงินได้ หลังจากได้งานไม่ครบ

 

เช็คเงินสดระบุโรงจำนำแห่งหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ ผู้บริหารเทศบาล และสามี เป็นผู้ออกให้ผู้ประกอบการ 4 ใบ หลังจ่ายเงิน “ค่าขนม” ให้กับผู้บริหารเทศบาล

ผู้รับเหมาอ้างว่า ตกลงจ่ายเงินให้กับปลัดเทศบาล กว่า 40 ล้านบาท ไปยังบัญชีของปลัดเทศบาล บุคคลไม่ทราบสถานะ และคนใกล้ชิดปลัดเทศบาล เพื่อแลกกับโครงการก่อสร้างถนนยางพารา 55 โครงการ แต่เมื่อเริ่มโครงการ ผู้รับเหมากลับไม่ได้รับงานโครงการก่อสร้างครบทั้ง 55 โครงการ บริษัทผู้รับเหมา จึงทวงถามเงินคืน แต่ถูกปฏิเสธ

ข้อมูลการโอนเงิน

- 24 ส.ค.2562 = 445,050 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx-4 ธ.ทหารไทย ออมทรัพย์
- 25 ส.ค.2562 = 4,207,913 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -0 ออมทรัพย์
- 31 ส.ค.2562 = โอน 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ล้านบาท รวม 4 ล้านบาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 1 ก.ย.2562 = 2,000,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 5 ก.ย.2562 = 1,000,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 16 ก.ย.2562 = 1,000,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 17 ก.ย.2562 = 2,000,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 11 ต.ค.2562 = 1,500,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 12 ต.ค.2562 = 1,500,000 บาท เข้าบัญชี xxx-x-xxxxx -5 ออมทรัพย์
- 3 ก.ย.2562 = ให้เงินสด ที่บ้านพักผู้บริหารเทศบาล 6,274,950 บาท
- 10 ก.ย.2562 = ให้เงินสด ที่บ้านพักผู้บริหารเทศบาล 4,941,000 บาท
- 6 ต.ค.2562 = ให้เงินสด ที่บ้านพักผู้บริหารเทศบาล 11,787,720 บาท
         รวมเงิน 39,656,633 บาท

วันที่ 7 เม.ย.2563 บริษัทผู้รับเหมา นำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะไม่มีเงินในบัญชีดังกล่าว ผู้รับเหมาจึงทวงถามเงิน แต่กลับถูกเพิกเฉย

วันที่ 3 ธ.ค.2563 บริษัทผู้รับเหมาสอบถามไปยังอธิบดีกรมฯ เพื่อทวงถามเงิน เพราะมีชื่อถูกพาดพิง และบอกให้ผู้บริหารเทศบาลคืนเงิน แต่ถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 3

วันที่ 18 ธ.ค.2563 ทวงถามเงินคืนอีกครั้ง แต่ก็ยังถูกปฏิเสธ

ไทยพีบีเอสได้ติดต่อไปยังคนใกล้ชิดผู้บริหารเทศบาล ที่ถูกพาดพิง และเป็นผู้ที่มีบัญชีปลายทางรับเงิน “ค่าขนม” ได้รับคำชี้แจงว่า

 

เป็นบริษัทขายน้ำยาง เมื่อผู้รับเหมาคนดังกล่าวต้องการทำถนนก็มาติดต่อซื้อน้ำยาง แต่เมื่อหมุนเงินไม่ทันจึงมาขอกู้ แต่หลังจากไม่มีเงินมาชำระหนี้ที่กู้ยืม

จึงฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย ผู้รับเหมาคนดังกล่าวที่นำเรื่องนี้มาเปิดเผยเป็นเรื่องบิดเบือน และได้แจ้งความดำเนินคดีไว้แล้ว ทุกอย่างให้พิสูจน์ความจริงที่ชั้นศาล และยืนยันว่าไม่มีการซื้องบประมาณ

 

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบถนนลาดยางพาราแอสฟัลท์คอนกรีต ปรับปรุงคุณภาพด้วยถนนยางธรรมชาติ ต.นาวัง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ถนนเส้นนี้กว้าง 4 เมตร ยาว 1,700 เมตร เส้นทางถนนตัดผ่านทุ่งนา เชื่อมต่อหมู่บ้านนาดี ไปยังหมู่บ้านวังแคน

ผู้รับเหมาใน จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า ต้องจ่ายค่าดำเนินการให้กับผู้บริหารเทศบาลตำบล คนหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ (ขณะนั้น) 705,000 บาท (ร้อยละ 15) เพื่อแลกกับโครงการก่อสร้างถนนสายนี้งบประมาณ 4,700,000 บาท

หลังจากได้ถนนมาชาวบ้านเดินทางสะดวกมากขึ้น ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 1 หน้าฝน ถนนยังไม่ชำรุด แต่ต้องรอดูอีกว่าจะทนแค่ไหน

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนาดีกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เป็นถนนดินลูกรัง ใช้สำหรับขนสินค้าทางการเกษตร รวมไปถึงสัญจรเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน แต่หลังจากทำถนนแล้ว ชาวบ้านสามารถสัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น

โครงการก่อสร้างถนนยางพารา เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และถนนซีเมนต์ดินปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราทั่วประเทศ งบประมาณ ปี 2562 ประมาณ 2,000 ล้านบาท (1,870 ล้าน)

อาศัยงบประมาณคงเหลือจ่าย ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจจัดสรรงบประมาณ ไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ หากได้ร้องขอใช้งบประมาณ และจะนำงบประมาณในส่วนนี้เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดขบวนการแบ่ง “ค่าขนม” จากโครงการถนนยางพารา (EP.1)

เปิดตัวละครในขบวนการ เครือข่าย “ค่าขนม” ถนนยางพารา 40 ล้าน (EP.2)

แผนตัดตอน “ค่าขนม” 40 ล้าน ! (โครงการถนนยางพารา) (EP.3)

สอบข้อเท็จจริง หรือ ตัดตอน “ค่าขนม” (โครงการถนนยางพารา) 40 ล้าน ! (EP.4)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง