เปิดใจ "อดีตกัปตันการบินไทย" ลาออกปมประเมินน้ำมันเสี่ยงเครื่องบินตก

เศรษฐกิจ
21 มี.ค. 64
13:34
1,298
Logo Thai PBS
เปิดใจ "อดีตกัปตันการบินไทย" ลาออกปมประเมินน้ำมันเสี่ยงเครื่องบินตก
การบินไทย ชี้แจงโต้ ยืนยันไม่มีนโยบายลดปริมาณน้ำมันต่ำกว่าเกณฑ์สากล หลังอดีตกัปตันการบินไทยโพสต์ข้อความระบุว่า เครื่องบินเกือบตกเพราะสำนักงานภาคพื้นดินคำนวณน้ำมันผิดพลาด และลาออกเพราะรับไม่ได้ที่มีการประเมินคัดคนออก โดยนำคะแนนการสั่งน้ำมันมาตัดสิน

วันนี้ (20 มี.ค.2564) จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์โพสต์เฟซบุ๊กของอดีตกัปตันการบินไทยโพสต์ข้อความระบุว่า เครื่องบินเกือบตกเพราะสำนักงานภาคพื้นดินคำนวณน้ำมันผิดพลาด และลาออกเพราะรับไม่ได้ที่มีการประเมินคัดคนออก โดยนำคะแนนการสั่งน้ำมันมาตัดสิน

ล่าสุด นพ.กรพรหม แสงอร่าม อดีตกัปตันการบินไทย และศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า วัตถุประสงค์หลักที่โพสต์ เนื่องจากต้องการเห็นองค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยวิธีที่ถูกต้อง ยืนยันว่า รักการบินไทย รักคนข้างในการบินไทยมาก แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่ดำเนินอยู่หลายอย่าง

ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายอย่าง เพราะผมมองว่ามันผิดพลาดมาตลอดจนทำให้เกิดความเสียหาย แม้กระทั่งฟื้นฟูแล้ว เกณฑ์การคัดเลือกที่ให้นักบินอยู่ต่อ หรือออกจากองค์กร กลับยังเป็นเกณฑ์ที่ทำให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมองค์กรในอนาคต

นพ.กรพรหม ยกตัวอย่างเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกนักบิน คือ การสั่งน้ำมันเพิ่ม ทั้งที่การสั่งน้ำมันเพิ่มนั้นเกิดจากความจำเป็นในกรณีปลายทางอากาศไม่ดี ระหว่างทางมีเมฆมาก ซึ่งหากไม่สั่งน้ำมันเพิ่มแล้วบินไปกลางทางน้ำมันไม่พอจะดีหรือ

นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์วันหยุด หากผู้ที่ไม่เคยป่วยเกิดเหตุฉุกเฉินลาป่วยกะทันหันจะถูกหักคะแนน ซึ่งการหักคะแนนนี้มองว่า​ ควรจะหักเป็นทศนิยม เช่น ลา 1 วัน หัก 0.1 คะแนน ยังมีคะแนนอาวุโสของกัปตัน ยกตัวอย่าง 0-5 ปี ได้ 1 คะแนน 5-9 ปี ได้ 2 คะแนน 9-13 ปี ได้ 3 คะแนน ซึ่งคนอยู่มา 5 ปี กับ 5 ปี 1 วัน ประสบการณ์จะต่างอะไรกันมาก แต่คะแนนดิบห่างกันมากถึง 1 คะแนน เพราะคะแนนห่างกัน 0.3 อันดับต่างกัน 10 อันดับ คะแนนที่เป็นเกณฑ์มีความหมายมาก เพราะ 1 คะแนนมันทำให้อันดับเปลี่ยน 20-30 อันดับได้เลยจาก 1 คะแนนเท่านั้นเอง​ หากวันนี้ตัวผมอยากอยู่ต่อก็ยังอยู่ได้ เพราะคะแนนยังอยู่ในกลุ่มที่ได้ไปต่อ แต่ผมเลือกที่จะออกมาเอง

 

นพ.กรพรหม ระบุอีกว่า ปัจจุบันการบินไทยมีวิธีการคำนวณน้ำมันขั้นต่ำเป็นไปตามมาตรฐานสากล และขณะนี้กัปตันทุกคนแม้จะสั่งน้ำมันตามมาตรฐานสากลก็ไม่ได้ทำอะไรผิดอะไร และปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่ในกรณีที่เลือกวิธีการคัดคนด้วยวิธีใช้แค่คำพูดที่ดูสวยหรูเป็นนามธรรมว่า การบริหารน้ำมันให้มีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่า หากบริหารน้ำมันให้มีประสิทธิภาพจริง ผู้ที่บินแล้วประหยัดน้ำมันก็ควรจะได้คะแนนมาก แต่ปรากฏว่า ในความเป็นจริงคือใครสั่งน้ำมันมากจะถูกหักคะแนนมาก

ในขณะที่ผมสั่งน้ำมันเยอะ ผมอาจจะทำประโยชน์ให้มากกว่าคนที่สั่งน้ำมันได้น้อยก็เป็นได้ แต่จำนวนไฟล์ตที่สั่งน้ำมันมากกลับถูกหักคะแนนมาก

มิติของน้ำมันที่อ้างว่าบริหารจัดการน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ กลับไม่ได้มองครบทุกมิติ ในวันที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นนั้นมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้กัปตันคนนี้จำเป็นต้องสั่งน้ำมันมากขึ้นหรือไม่ บางคนสั่งน้ำมันเพิ่มเพราะอากาศไม่ดีก็ต้องถูกหักคะแนนหรือ เรื่องนี้ต้องมองให้ครบทุกบริบท ไม่ใช่ดูเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น

ทั้งนี้ เกณฑ์การคัดเลือกคนให้อยู่ต่อหลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น คนในองค์จะอยู่กันต่ออย่างไร ขณะที่เรื่องความปลอดภัยที่พูดกันจริงจังด็ยังต้องตั้งคำถามว่าปลอดภัยจริงหรือ เพราะนโยบายเกณฑ์การคัดเลือกคนอยู่ต่อ ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ปากพูดว่า "Safety is our first priority"

“การบินไทย” ยืนยันไม่มีนโยบายลดน้ำมันต่ำกว่ามาตรฐาน

ขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจการบินโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและเที่ยวบิน พร้อมยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่มีนโยบายด้านการประหยัดด้วยการให้ลดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงลงต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ใช้วิธีบริหารการใช้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพในทุกเที่ยวบิน โดยมุ่งเน้นด้านการบริหารต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน

สำหรับการประเมินนักบิน หัวข้อการสั่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความเหมาะสมนั้น ได้ใช้ข้อมูลและวิธีการทางสถิติ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ เป็นข้อมูลจากคลังข้อมูลของบริษัทฯ มีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล และผลที่ออกมานั้นก็สามารถวัดประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิงของนักบินผู้ควบคุมอากาศยานได้

ทั้งนี้ การประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน มิได้พิจารณาเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ยังมีหัวข้ออื่น ๆ ที่ใช้พิจารณาอีกหลายหัวข้อ เช่น ความตั้งใจและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการบินและงานด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"การบินไทย" ยืนยันปรับโครงสร้าง หวังฟื้นฟูกิจการสำเร็จ

"การบินไทย" ประกาศปรับโครงสร้างวันนี้ ลดพนักงานครึ่งหมื่น

เปิดแผนฟื้นฟูฯ การบินไทย ลดฝูงบิน-พนักงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง