เปิดปม : เสพเสี่ยงตายเคสูตรผสม

สังคม
2 เม.ย. 64
17:21
1,210
Logo Thai PBS
เปิดปม : เสพเสี่ยงตายเคสูตรผสม
ป.ป.ส.ระบุ เหตุการณ์ผู้เสพเคนมผงเสียชีวิตเมื่อเดือน ม.ค.64 นับเป็นครั้งแรกที่พบเคตามีนถูกนำไปผสมกับสารไดอะซีแพม ซึ่งทั้ง 2 สารเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อย.เผยการนำมาดัดแปลงหรือปรับปริมาณยามีความเสี่ยงสูงถึงขั้นเสียชีวิต

รายงานตรวจพิสูจน์เคนมผงของกลาง 5 ตัวอย่างในคดีเสพเคนมผงเสียชีวิต 11 คนเมื่อเดือน ม.ค. 2564 จากสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ป.ป.ส. ระบุว่า ของกลางมีลักษณะเป็นผงสีขาว บรรจุในซองซิปพลาสติกใส น้ำหนักแต่ละซองเฉลี่ยประมาณ 800 มก.

 

ในสารตัวอย่าง 1 ซอง มีความเข้มข้นของไดอะซีแพม บริสุทธิ์ ร้อยละ 93 – 99  ปริมาณร้อยละ 19 หรือคิดเป็นไดอะซีแพม 70 เม็ด และ มีปริมาณสารเคตามีนร้อยละ 0.04

สารตัวอย่างอีก 1 ซองปริมาณ 4.5 กรัม เป็นของกลางจากพื้นที่เกิดเหตุ สน.โคกคราม ตรวจพบไดอะซีแพมร้อยละ 99.13 แต่ไม่มีเคตามีนผสมอยู่เลย

มีข้อมูลว่า ผู้เสพ 1 คนใช้ในปริมาณสูงถึงคนละ 200 มก. หรือ 100 เม็ด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต

ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ระบุว่า มีคดีเกี่ยวกับเคตามีน 651 คดี ในจำนวนนี้ มี 44 คดี พิสูจน์พบว่าเป็นเคตามีนสูตรผสมกับยาเสพติดชนิดอื่น แบ่งเป็น เคตามีนผสมไอซ์ 31 คดี เคตามีนผสมโคเคน 3 คดี เคตามีนผสมยาอี และคาเฟอีน อย่างละ 5 คดี

 

นั่นหมายความว่าที่ผ่านมา มีการผสมสารเสพติดร่วมกับเคตามีนเพียง 2 สารเท่านั้น ไม่พบการผสม 3 สารขึ้นไป และไม่เคยปรากฎมาก่อนว่า สารไดอะซีแพมถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการผสม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 10 ม.ค. 2564 จึงเป็นครั้งแรกที่พบของกลางเคนมผง ซึ่งเป็นเคตามีนผสมกับยานอนหลับกลุ่มไดอะซีแพม ซึ่งทั้ง 2 สาร เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ใช้ทางการแพทย์

 

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า การผสมเคตามีนกับยาเสพติดชนิดอื่นมีมานานแล้ว แต่ที่แตกต่างไปจากเหตุการณ์นี้คือ ไม่มีผู้เสียชีวิต และ สารที่นำมาผสมกับเคตามีนแตกต่างกับ 44 คดีที่ผ่านมา

ของกลางที่เรียกว่าเคนมผงมันต่างจากที่เอามาผสมที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมา 44 คดี มันเอาไปผสมกับไอซ์ โคเคน ยาอี พาราเซตามอล หรือคาเฟอีน และ ในการที่เอามาผสมกันมันน่าจะมาผสมที่ผู้ค้ารายย่อยแล้วหรือผู้เสพซื้อมาผสมเอง

ไดอะซีแพม เป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนส์ (Benzodiazepines) ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดอาการวิตกกังวล ทำให้ง่วงหลับและอาจเกิดภาวะเสียความจำชั่วขณะ มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น แวเลียม โรเช่ ดอร์มิคุม

จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และศึกษาวิจัย เป็นวัตถุดิบเคมีภัณฑ์นำเข้าจากจีนและอินเดีย เพื่อนำมาใช้ผลิตยาตำรับไดอะซีแพม 26 ตำรับ  ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตผลิต 13 ราย ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.

หากได้รับยาเกินขนาดจะมีอาการง่วงซึม ชัก หัวใจเต้นช้า มีฤทธิ์กดประสาทจนกดการหายใจ โคม่า และเสียชีวิต

 

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. ระบุว่า ไดอะซีแพมไม่ใช่สารเสพติด มีประโยชน์ทางการแพทย์ ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม แต่เมื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดร่วมกับยาเสพติด ยิ่งออกฤทธิ์ทำให้มีผลต่อหัวใจ

ยาเสพติดทุกตัวไม่ว่ากระตุ้นประสาท หรือ กดประสาทมันเป็นยาเสพติดให้โทษ มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทั้งสิ้น ยิ่งสูดเข้าจมูกมันจะออกฤทธิ์เร็วที่สุด เพราะเข้าสู่เส้นเลือดที่อยู่ตรงโพรงจมูกทันที่ แล้วเข้าไปสู่สมอง ประสาท แล้วก็หัวใจทันที

เคตามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ใช้ทางการแพทย์เป็นยาสลบ ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด เพิ่มความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะสลบ หลับใหล สูญเสียความทรงจำ และไม่เจ็บปวด

รองเลขาธิการ อย. ระบุว่า ปัจจุบัน อย. จำหน่ายเคตามีนรูปแบบยาฉีด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตขายเท่านั้น

ยาเคในระบบทำเพื่อการแพทย์ รองรับคนที่ใช้ในระบบคือใช้เป็นยาสลบ จึงไม่มีหลุดไปนอกระบบ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเกินไม่มีขาด เพราะยังไงการบริหารจัดการทางการแพทย์ต้องให้มีใช้อยู่เสมอ แต่ในเรื่องการลักลอบนำเข้าหรือลักลอบใช้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รองเลขาธิการ อย. ให้ข้อมูลว่า ทั้งยานอนหลับกลุ่มไดอะซีแพม และเคตามีน เป็นยาที่มีประโยชน์ แต่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อต้องการฤทธิ์หลอนประสาท และดัดแปลงไปใช้ในรูปแบบการสูด เพื่อหวังให้ออกฤทธิ์เร็วและปรับปริมาณยาให้สูงขึ้นเสี่ยงได้รับยาเกินขนาด การใช้เคตามีนถึง 1 กรัม อาจทำให้เสียชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง