โควิดรอบ 3 ฉุดรายได้ท่องเที่ยวไทย 1.3 แสนล้านบาท

เศรษฐกิจ
21 เม.ย. 64
12:03
422
Logo Thai PBS
โควิดรอบ 3 ฉุดรายได้ท่องเที่ยวไทย 1.3 แสนล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ารายได้ของตลาดไทยเที่ยวไทยช่วงครึ่งแรกปีนี้เหลือ 1.37 แสนล้านบาท หรือหายไป 1.30 แสนล้านบาท หลังจาก COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนและกระจายไปหลายจังหวัด

วันนี้ (21 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยรายงานเรื่องโควิดระลอก 3 คาดรายได้ไทยเที่ยวไทยสูญ 1.3 แสนล้านบาท โดยระบุว่า ​หลังตัวเลขล่าสุดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาชี้ว่า เดือน ก.พ.2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 30% จากเดือน ม.ค.2564

ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดระลอก 2 ตลาดไทยเที่ยวไทยก็ถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดระลอก 3 เมื่อก้าวสู่ไตรมาสที่ 2 ปี 2564

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ารายได้ของตลาดไทยเที่ยวไทยช่วงครึ่งแรกปี 2564 จะหดเหลือ 1.37 แสนล้านบาท หรือหายไป 1.30 แสนล้านบาท จากตัวเลขคาดการณ์เดิม ณ เดือน ม.ค.2564 ซึ่งอยู่ที่ 2.67 แสนล้านบาท

เนื่องจากการระบาดรอบนี้มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนมากกว่าที่ผ่านมาและกระจายไปหลายจังหวัดตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยวางแผนท่องเที่ยวสงกรานต์

ยกเลิกจองโรงแรม หลังกังวลสถานการณ์

ทั้งนี้ ส่งผลให้ธุรกิจนำเที่ยวและโรงแรมที่พักหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกจอง จากความกังวลและความไม่แน่ใจในสถานการณ์และมาตรการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยครึ่งแรกปี 2564 ยังรวมถึงการคาดการณ์ว่าการระบาดในรอบนี้จะใช้เวลาควบคุมสถานการณ์นานกว่ารอบที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เชื้อที่ระบาดเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่แพร่เร็ว

ต้นตอของการระบาดมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสัดส่วนสูง และเป็นการระบาดที่เกิดขึ้นหลังรอบก่อนหน้าเพียง 3 เดือน

แนะทุกฝ่ายร่วมกันควบคุม COVID-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่านอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐ ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนและเปิดทางจัดหาวัคซีนทางเลือก เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็วและครอบคลุมมากที่สุดแล้ว

ทุกภาคส่วนยังควรร่วมกันควบคุมการแพร่ระบาดให้จบโดยเร็วและรักษามาตรฐานการป้องกันอย่างเคร่งครัดต่อไป

โดยในส่วนของผู้ประกอบการ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในช่วงครึ่งหลังปี 2564

ทั้งในด้านความเสี่ยงเชิงนโยบายและปัจจัยแวดล้อมของตลาด เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง