นักวิจัย ม.เกษตร ค้นพบ "กุ้งเต้นคงเสมา" ชนิดใหม่ของโลก

Logo Thai PBS
นักวิจัย ม.เกษตร ค้นพบ "กุ้งเต้นคงเสมา" ชนิดใหม่ของโลก
ทีมนักวิจัยภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ “กุ้งเต้น” ชนิดใหม่ของโลก ภายในมหาวิทยาลัย และยังไม่มีรายงานในบริเวณอื่นในโลก

วันนี้ (23 เม.ย.2564) ทีมวิจัยจากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ นายอโณทัย สุขล้อม ดร.พัชร ดนัยสวัสดิ์ และ ดร.กรอร วงษ์กำแหง ค้นพบกุ้งเต้นคงเสมา (Floresorchestia kongsemae) ชนิดใหม่ของโลก

สำหรับกุ้งเต้นคงเสมา เป็นสัตว์ในซับไฟลัมครัสเตเชียน คือกลุ่มเดียวกับกุ้ง ปู แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวแบนข้าง มีขาเดิน 7 คู่ ต่างจากกุ้งที่เรารู้จักกันที่มีขาเดิน 5 คู่ โดยปกติจะพบอาศัยในทะเลและน้ำจืด กุ้งเต้นที่พบอยู่ในวงศ์ Talitridae เป็นกลุ่มที่วิวัฒนาการปรับตัวให้มาอาศัยอยู่บนบกได้ แต่ยังมีลักษณะความเป็นสัตว์น้ำอยู่ คือหายใจด้วยเหงือก จึงมักพบอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะที่มีการรบกวนของหน้าดินน้อย

โดยปกติ "กุ้งเต้น" จะกินซากใบไม้ที่อยู่ริมฝั่งและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร การกัดกินอาหารของกุ้งเต้น ดังกล่าว จะช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายโดยแบคทีเรียและช่วยหมุนเวียนสารอาหาร นอกจากนี้ กุ้งเต้นยังเป็นอาหารของนกที่พบหากินบริเวณริมน้ำ อีกด้วย

ลักษณะสำคัญของกุ้งเต้นคงเสมา (Floresorchestia kongsemae) ซึ่งเป็นกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลกนั้น บริเวณปากส่วนฟัน mandible lacinia mobilis ด้านซ้ายมีฟัน 5 ซี่ ก้ามคู่ที่ 2 มีส่วนฝ่ามือยาว 33% และมีหนามที่ปลายหางส่วน telson ข้างละ 4 หนาม 

ส่วนการตั้งชื่อกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก ว่า กุ้งเต้นคงเสมา เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ อ.ดร.เมษยะมาศ คงเสมา อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้มีส่วนช่วยในการเก็บตัวอย่างและวางแนวทางการศึกษาชีววิทยาของกุ้งเต้นชนิดใหม่ตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2560 และอาจารย์เสียชีวิตไปเมื่อเดือน ม.ค.2564 

พบ “ กุ้งเต้น” (amphipod) ชนิดใหม่ของโลก ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังไม่มีรายงานในบริเวณอื่นในโลก ...

โพสต์โดย Kasetsart University เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2021

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง