COVID-19 รอบ 3 ฉุดยอดใช้จ่ายอาหาร - เครื่องดื่ม

เศรษฐกิจ
26 เม.ย. 64
16:25
327
Logo Thai PBS
COVID-19 รอบ 3 ฉุดยอดใช้จ่ายอาหาร - เครื่องดื่ม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ผลกระทบจาก COVID-19 ระลอก 3 ฉุดมูลค่าการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มในประเทศในปี 2564 แต่คาดว่าอาจเติบโต 0.5% หากคลี่คลายภายใน 3 เดือน

วันนี้ (26 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "COVID-19 ระลอก 3 ฉุดมูลค่าการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ คาดปี’64 อาจโต 0.5% หากคลี่คลายภายใน 3 เดือน" โดยระบุว่า

ผลกระทบจาก COVID-19 ระลอก 3 จะฉุดรั้งมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปี 2564 ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการเพิ่มยอดขายในปีนี้

คุมระบาดใน 3 เดือน คาดขยายตัว 0.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในกรณีฐาน หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า (โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคียงกับสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. หรือก่อนที่จะมีการระบาดระลอก 3 หรือเฉลี่ยไม่เกิน 100 ราย/วัน)

ตลอดจนการกระจายวัคซีนเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้และมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายออกมาเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี มูลค่าการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในประเทศอาจมีมูลค่า 2.48 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 0.5%

ชี้หากเกิดคลัสเตอร์ใหม่ กำลังซื้อฟื้นยาก

ในกรณีเลวร้าย หากสถานการณ์ถูกลากยาวไปมากกว่าภายในช่วง 3 เดือนนี้ หรือมีการแพร่ระบาดที่เป็นคลัสเตอร์กลุ่มใหม่ การกลับมาฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคคงเป็นไปได้ยาก

อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนอาจไม่สามารถประคับประคองสภาพคล่องมากกว่า 2 ปีติดต่อกันได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย

ดังนั้น มูลค่าการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ จึงมีโอกาสที่จะหดตัวไปอยู่ที่ระดับ -2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน

มองว่ากลุ่มอาหารประคับประคองตัวได้

โดยกลุ่มสินค้าที่น่าจะประคับประคองยอดขายได้ใกล้เคียงกับปีก่อน (หรือขยายตัวอยู่ในกรอบ 0-1%) คือกลุ่มอาหาร อาทิ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ข้าว เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

แต่ในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่าง น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน จากกำลังซื้อที่เปราะบาง การแข่งขันทางธุรกิจสูงและมีกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น

แนะชะลอลงทุนรอผ่านพ้น COVID-19

ทั้งนี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงสวนทางกับกำลังซื้อที่มีจำกัด การปรับตัวของผู้ประกอบการคงอยู่ที่การลดต้นทุนการผลิต/ค่าใช้จ่าย หรือชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อพยุงสภาพคล่องให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากไปได้

ส่วนโอกาสทางธุรกิจภายใต้วิกฤตนั้น การผลิตจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการให้กับลูกค้ามากขึ้น ภายใต้การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง แปลกใหม่ มีความยืดหยุ่น และคล่องตัวด้านการดำเนินงาน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง