หญิงท้องติดโควิด 77 คน หมอชี้เสี่ยงอาการรุนแรง-แนะฉีดวัคซีน

สังคม
30 เม.ย. 64
16:08
3,881
Logo Thai PBS
หญิงท้องติดโควิด 77 คน หมอชี้เสี่ยงอาการรุนแรง-แนะฉีดวัคซีน
กรมอนามัย ชี้หญิงท้องติด COVID-19 เสี่ยงอาการรุนแรง แนะฉีดวัคซีนป้องกันหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ พบข้อมูลมีหญิงท้องติด COVID-19 จำนวน 77 คน เสียชีวิต 1 คน อาการปอดอักเสบ 21 คน

วันนี้ (30 เม.ย.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกการประชุมคณะทำงานการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ และหลังคลอดที่ติดเชื้อ COVID-19 มีการนำเสนอข้อมูลการสำรวจของกรมอนามัยล่าสุดเมื่อ 28 เม.ย.นี้ พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อจำนวน 77 คน ไม่มีอาการ 43 คน มีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ 21 คน เสียชีวิต 1 คน ส่วนใหญ่ 81.5% ติดเชื้อในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์

ขณะที่ข้อมูลการใช้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์พบยังมีไม่มาก แต่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป

อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า สำหรับการนัดหมายตรวจครรภ์ กรณีตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก และช่วง 2 โดยไม่มีการนัดตรวจพิเศษอื่นๆ สามารถโทรติดต่อขอเลื่อนนัดตรวจครรภ์ออกตามความเหมาะสมส่วนในรายที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์เป็นต้นไป และในรายที่เป็นกลุ่มครรภ์เสี่ยงสูงหรือมีโรคร่วม ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ธัยรอยด์ หัวใจ หอบหืด ปอดเรื้อรัง ไต และภูมิต้านทานผิดปกติ ควรไปฝากครรภ์ตามแพทย์นัดทุกครั้ง ควรนัดเวลาล่วงหน้า เพื่อลดระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลให้สั้นที่สุด  

มติให้หญิงตั้งครรภ์ควรรับวัคซีน COVID-19

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อสรุปในเบื้องต้น จากการหารือร่วมภายใต้คณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ มีคำแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับวัคซีน และควรได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน รวมทั้งความเสี่ยงที่จะติดโรค COVID-19 และความรุนแรงของโรค ก่อนตัดสินใจ

ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์ที่ควรได้รับวัคซีนก่อนนั้น มีหลักการพิจารณาเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ได้แก่ กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลที่ทำงานในลักษณะที่ต้องสัมผัสกับคนหมู่มาก บุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง รวมถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงเมื่อติดเชื้อ เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่มี โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ สำหรับช่วงเวลาที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนคือช่วงหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์

แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อน เนื่องจากผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว ส่วนแอสตราเซเนกา เป็น viral vector vaccine มีโอกาสเกิดอาการไข้หลังฉีดได้มาก และมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่พบน้อยมาก

สำหรับหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง