สื่อสารประเด็นสังคม - สีสันชุดประจำชาติ Miss Universe 2020

ศิลปะ-บันเทิง
14 พ.ค. 64
09:55
11,086
Logo Thai PBS
สื่อสารประเด็นสังคม - สีสันชุดประจำชาติ Miss Universe 2020
"อแมนด้า ออบดัม" โชว์เอกลักษณ์ของไทยในชุดปลากัดสีธงชาติไทย "ไตรรงค์อนงค์นาถสุพรรณมัจฉา" สะกดสายตาบนเวที Miss Universe 2020 รอบชุดประจำชาติ ขณะที่สาวงามจากหลายประเทศเลือกสื่อสารประเด็นทางสังคมผ่านชุดประจำชาติบนเวทีด้วย

วันนี้ (14 พ.ค.2564)  เวลา 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย มีการถ่ายทอดสดการประกวด Miss Universe 2020 รอบชุดประจำชาติ จากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวแทนสาวไทย "อแมนด้า ออบดัม" ออกมาโชว์เอกลักษณ์ของไทยในชุดปลากัดสีธงชาติไทย "ไตรรงค์อนงค์นาถสุพรรณมัจฉา" 

ชุดประจำชาติของไทยในปีนี้สร้างสรรค์ด้วยแรงบันดาลใจเริ่มต้นจากนางในวรรณคดี ผนวกสีสันของ “ปลากัด” สมบัติของชาติสู่ชุดประจำชาติที่สง่างาม ซึ่งลวดลายดังกล่าวเป็นลายเสมือนจริงของปลากัดหางสั้นลายธงชาติ ที่ขึ้นชื่อว่ามีราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย ที่รู้จักกันในนาม “เจ้าไตรรงค์” ที่อแมนด้าได้นำไปอวดความอลังการ สะกดคนดูในฮอลล์เรียกเสียงเชียร์ ไม่แพ้แฟนนางงามละตินเจ้าถิ่น

ภาพ : Miss Universe Thailand

ภาพ : Miss Universe Thailand

ภาพ : Miss Universe Thailand

 

นอกจากนางงามสาวไทยแล้ว การประกวดชุดประจำชาติในครั้งนี้ หลายคนจับตาสาวงามจากเมียนมา  "Thuzar Wint Lwin" หรือ "Candy" ว่าท้ายที่สุดจะสวมชุดประจำชาติชุดใด หลังก่อนหน้านี้เกิดเหตุไม่คาดฝัน กระเป๋าเดินทางบางส่วนหายไป รวมถึงชุดประจำชาติได้หายไปด้วย

สำหรับชุดดังกล่าวเป็นชุดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาล้มลุก ของเล่นโบราณที่ชาวเมียนมาคุ้นเคยดี ตรงตามชื่อเรียกในภาษาเมียนมาว่า "Pyit Taing Htaung" ที่แปลว่า "ลุกขึ้นมาได้ทุกครั้ง แม้ถูกโยนออกไป" ซึ่งสาวงามเมียนมา ตั้งใจสื่อถึงการต่อสู้บนท้องถนนของประชาชนในบ้านเกิด เพื่อยืนหยัดเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะตกอยู่ในอันตรายถึงแก่ชีวิตก็ตาม และตุ๊กตาของเล่นนี้ ยังถูกนำมาวางบนท้องถนนในเมืองต่าง ๆ ของเมียนมาโดยกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

อย่างไรก็ตาม The Show Must Go On คนเมียนมาในไมอามี่ช่วยหาชุดให้ใหม่ เป็นชุดที่สื่อถึงงานฝีมือของสตรีในรัฐชิน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องงานทอผ้า และไฮไลต์ คือ การชูป้าย "Pray for Myanmar" บนเวที เพื่อบอกต่อคนทั่วโลกว่า ขณะนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศบ้านเกิดจนได้รับคำชื่นชมไปทั่วโลก เรื่องความกล้าหาญ เพื่อเป็นกระบอกเสียงแทนคนในประเทศ

สื่อสารประเด็นทางสังคมผ่านชุดประจำชาติ

ปีนี้สาวงามหลายประเทศ สื่อสารประเด็นทางสังคมผ่านชุดประจำชาติ อย่างสาวงามจากสิงคโปร์ สกรีนคำว่า "Stop Asian Hate" หรือยุติความเกลียดชังต่อคนเอเชียบนชุดประจำชาติ ซึ่งเธอโพสต์ผ่านอินสตาแกรมว่า "คงไม่มีความหมาย ถ้าเธอไม่ใช้เวทีนี้แสดงจุดยืนต่อต้านความรุนแรง และอคติทุก ๆ รูปแบบ"

 
เช่นเดียวกับสาวงามจาก "อุรุกวัย" ที่เฉลิมฉลองการต่อสู้ของกลุ่มเพศหลากหลายในประเทศ ผ่านชุดสีรุ้ง และข้อความสื่อสารว่ากลุ่ม LGBT เผชิญกับความเกลียดชัง ความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ ซึ่งประเทศอุรุกวัย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก กับการผลักดันเรื่องสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลาย และมีกฎหมายปกป้องกลุ่ม LGBT จากการเลือกปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2004

นอกจากนี้ ยังมีสีสันของสาวงามม้ามืดอย่าง "เนปาล" ที่ยกภูเขาเอเวอเรสต์ทั้งลูกมาบนเวที แลนมาร์กที่เป็นความภูมิใจของชาวเนปาล ซึ่งเธอเป็นคนนำเสนอแนวคิดนี้ด้วยตัวเอง

ขณะที่ในอาเซียน ยังมีสาวงามทั้งประเทศ "เวียดนาม" และ "อินโดนีเซีย" ที่นำเสนอชุดได้โดดเด่น แต่ที่เป็นงานหนักคือสาวงามจาก "มาเลเซีย" เพราะชุดประจำชาติ แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมบ้านเก่าแก่ในมาเลเซีย มีน้ำหนักมากถึง 45 กิโลกรัม จนขนคนเดียวไม่ไหว และใช้เวลาบนเวทีนาน แต่ท้ายที่สุดก็สามารถแก้สถานการณ์ไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง